วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศด้านการพัฒนาครู

ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย รศ.ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่จากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศด้านการพัฒนาครูเพื่อการศึกษาเพื่อปวงชนของยูเนสโก (International Task Force for Teachers on EFA) เรื่อง “Policy Dialogue Forum on Providing Teachers for Education for All (EFA): Quality Matters” ระหว่างวันที่ 6–7 กรกฎาคม 2553 ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน

การนำเสนอข้อมูลในภาพรวมของประเทศใน 3 หัวข้อหลัก ดังนี้
- การจัดเตรียมครูเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน: มุ่งเน้นการได้มาซึ่งผลการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ประเทศไอร์แลนด์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับครูและความท้าทายด้านคุณภาพ โดยเน้นปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเร่งให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวด้านการศึกษาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการสอน นอกจากนี้ ประเทศปาเลสไตน์ยังนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าด้านการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศ เน้นพัฒนาคุณภาพครูควบคู่ไปกับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teacher Continuous Development) การพัฒนาครูฝึกหัด (Pre-service) และครูประจำการ (In-service) ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงใน 3 เรื่องหลัก คือ สถานภาพครู การบริหารจัดการระบบการศึกษา และการประเมิน/การปฏิรูป และการรวมครูฝึกหัดและครูประจำการในระบบการศึกษาครู โดยคาดหวังที่จะให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งครูและองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เน้นความเสมอภาคภายในประเทศระหว่างหญิง-ชาย การใช้ประโยชน์จาก ICT กับการศึกษานอกเหนือไปจากการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน
- การจัดเตรียมครูเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน: มุ่งเน้นคุณภาพ การจัดการสอนที่มีความสัมพันธ์ (Relevance) กับบริบททางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงทักษะชีวิต (Life Skills) ความเป็นพลเมือง (Citizenship) ความสามารถในการประกอบอาชีพ (Employability) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ประเทศแอฟริกาใต้เน้นวิธีการสอนครู การเปลี่ยนแปลง ในระบบการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงรูปแบบการพัฒนาที่ไม่มีความยั่งยืน ยังมีความยากจนและความไม่เสมอภาคทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และขาดการดูแลและใส่ใจต่อระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนา ได้แก่ ความเสมอภาค ความยั่งยืน ความยืดหยุ่น (Resilience) และการนำมาปรับใช้ รวมไปถึงโครงการการพัฒนานักเรียนครู (Teacher Education Students Programme) นอกจากนี้ ประเทศจอร์แดนได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยโครงการฝึกอบรมในหลากหลายรูปแบบ ภาพรวมระบบการศึกษาของประเทศโดยแสดงให้เห็นถึงข้อมูลตัวชี้วัดพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันประเทศมีความก้าวหน้าต่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน มีจำนวนนักเรียนลงทะเบียนเรียนเพิ่มมากขึ้น อัตราเด็กนักเรียนที่คงเหลือรอด (Survival Rate) มีการพัฒนาปรับปรุงทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย รวมทั้งผลการประเมินโครงการการศึกษา (PISA) มีการพัฒนาดียิ่งขึ้น ความก้าวหน้าด้านการศึกษาเพื่อปวงชนโดยมีหลายปัจจัยประกอบ ได้แก่ พันธะทางการเมือง พันธะของรัฐบาล การเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้ ยังเน้นการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรฐานในการพัฒนาสาขาวิชาชีพครู รูปแบบการพัฒนาปรับปรุงโดยอาศัยโรงเรียนเป็นฐาน การบริหารจัดการคุณภาพโรงเรียน รวมทั้งนโยบายการพัฒนาสาขาอาชีพครู และกรอบยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพครู
- การจัดเตรียมครูเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน: มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษาเพื่อนำไปสู่การวางแผนและการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไอร์แลนด์ เน้นเรื่องของความท้าทายในการวางแผนเพื่อพัฒนาครู ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบการศึกษา การขาดแคลนครูในหลายประเทศ การใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการครู นอกจากนี้ ประเทศตูนีเซียได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศ พร้อมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ บ่งชี้ถึงข้อมูลตัวชี้วัดเกี่ยวกับครู อาทิ ความต้องการ การวางแผน การบริหารจัดการ รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศในแง่ของการฝึกอบรมและช่องว่างของสาขาวิชาชีพครู และกลยุทธ์ในการส่งเสริมคุณภาพ (ICT และการพัฒนาฝึกอบรมครูประจำการ)

ไม่มีความคิดเห็น: