วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตั้งอ.ก.ค.ศ.สพท.มัธยม

ก.ค.ศ.เห็นชอบตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มัธยม ขณะที่งานบริหาร อาทิ โยกย้าย การขอเลื่อนวิทยฐานะ ต้องชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีการตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเสร็จ
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เห็นชอบการตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ประกอบด้วย 1.เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน 2.ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย และด้านการเงินการคลัง ด้านละ 1 คน 3.ผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ. 1 คน 4.ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 1 คน 5.ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาสายมัธยมศึกษา ผู้แทนข้าราชการครูในสถานศึกษาสายมัธยมศึกษา และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น จำนวน 5 คน 6.เจ้าหน้าที่ที่เลขาธิการ กพฐ.มอบหมายให้เป็นกรรมการและเลขานุการ 1 คน และ 7.เจ้าหน้าที่ที่เลขาธิการ กพฐ.มอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า โดยในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ จะมีการเสนอเรื่องการกำหนดจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) และจากนั้นจะได้แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญนั้น ให้ชะลอการดำเนินการเรื่องงานบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาทิ เรื่องการโยกย้ายแต่งตั้ง งานวินัย การขอเลื่อนวิทยฐานะไว้ทั้งหมด จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดดังกล่าว

สำหรับครูมัธยมศึกษาที่ได้ทำเรื่องขอย้ายไว้ก็สามารถคงสิทธิการขอย้ายไว้ได้ สำหรับกรณีที่กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการ ก.ค.ศ. จำนวน 9 คน ต้องเสียสิทธิหลุดจากการเป็นกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดปัจจุบัน และเตรียมจะฟ้องศาลปกครองนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีมติอะไรออกมาเพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องยึดตามกฎหมายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้.

เปิดเสรีการศึกษาปี 2015

กระทรวงศึกษา-นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ว่า เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางทางการศึกษาในปี ค.ศ.2015 ตามข้อกำหนดGATS ขององค์การค้าโลก (WTO) ซึ่งศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการศึกษา เพื่อนำผลวิจัยที่ได้มาเป็นฐานในการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายในการเปิดเสรีทางการศึกษา

ทั้งนี้ ผลการจิจัยของ สกศ.ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้เสนอผลวิจัย นั้น มีข้อสรุป ดังนี้ 1. ให้มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนมาดูแลในเรื่องการเปิดเสรีทางการศึกษา 2. ควรกำหนดทิศทางที่ชัดเจนทั้งในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์

3. ต้องดำเนินการติดตามสถานะทางการศึกษาของประเทศ ที่ควรเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าที่จะเปิดเสรี เพื่อรองรับการแข่งขัน 4. การเตรียมความพร้อมสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน

5. ควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศธ. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร.ร.เอกชน 6. ควรศึกษาผลกระทบในมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม

"มอบให้องค์กรหลักไปดูความพร้อม ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมมาตรฐานรองรับ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการรองรับ การเปิดเสรีทางการศึกษาด้วย ศธ.ต้องเตรียมพัฒนามาตรฐานการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทไว้ร้องรับด้วย"นายชินวรณ์ กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงการจัดการเรียนระดับมัธยมโดยเพิ่มเทคนิคระดับสูงและเทคนิคการเรียนวิชาชีพ ส่วนอุดมศึกษา อาชีวศึกษา มีรายละเอียดเทคนิควิชาชีพชั้นสูงหรือการศึกษาในระดับอนุปริญญา หรือเทียบเท่าขึ้นไป ส่วนการจัดหลักสูตรวิชาชีพ ระยะสั้น ซึ่งรับผิดชอบโดยกศน.นั้น ก็ต้องมีการปรับปรุง

รวมไปถึง บริการทางการศึกษาอื่นๆ ร.ร.สอนภาษา สอนศิลปะ ดนตรี ของเอกชน ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ร.ร.เอกชน เพื่อรองรับด้วยเช่นกัน รวมไปถึง ระเบียบ สช.ระเบียบศธ. เรื่องการ กำหนดมาตรฐานร.ร.เอกชนนานาชาติ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้สอดรับในการเปิดเสรีทางการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: