วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวปฏิบัติกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์วิธีการประกันคุณภาพการศึกษา

โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้มีเอกภาพในเชิงปริมาณสูงขึ้นตามลำดับ มีการขยายจำนวนผู้อ่านหนังสือและเพิ่มจำนวนผู้อ่านหนังสือออกมากขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาใหม่ เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ., สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันยังไม่มีการพูดถึงระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะระดับปฐมวัยและอาชีวศึกษาที่ยังไม่มีหลักประกันคุณภาพการศึกษาและไม่มีกฎกระทรวงมารองรับไว้ ในขณะที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาได้มีกฎกระทรวงออกมารองรับการประกันคุณภาพไว้แล้ว

ดังนั้น การที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ทำหลักประกันในเรื่องระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา จึงถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะทำให้ระบบการประกันคุณภาพครอบคลุมการศึกษาทั้งระบบ ที่ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและหน้าที่ในการดำเนินการ

กฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ครอบคลุมการศึกษาทุกระดับ

ส่วนในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) ได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ในการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอก ครอบคลุมการศึกษาทุกระดับ นอกจากนั้นยังมีการกำหนดคุณภาพ ระบบการติดตามประเมินผล มุ่งเน้นการรายงานผลประจำปีการประเมินของสถานศึกษา เพื่อให้คณะกรรมการสถานศึกษาและสาธารณชนได้รับทราบ มีการติดตาม ตรวจสอบ มีส่วนร่วมในการติดตามพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างยั่งยืน

ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปฏิรูปการศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปฏิรูปการศึกษา เพราะจะส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียน มุ่งสร้างโอกาส และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ซึ่งแนวทางที่สำคัญที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวคือ มาตรฐานคุณภาพทางการศึกษา เพื่อให้ได้พลเมืองยุคใหม่ที่เก่ง ดี มีความสุข เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รวมทั้งได้ครูยุคใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการระบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความแน่วแน่ของรัฐบาลที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดกรอบ เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง และได้มีการประชุมไปแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ซึ่งในที่ประชุมครั้งแรกนั้น กนป.ได้เห็นชอบให้ ศธ.ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) ขึ้นมาโดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนตัวชี้วัดที่ กนป.ได้ให้เอาไว้ รวมทั้งจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา โดยให้ สสค.เป็นองค์กรอิสระขนาดเล็กที่จะไปขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อความคล่องตัวในการกระจายงบประมาณและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทำประโยชน์กับเด็กและเยาวชนโดยตรง

ยกระดับสถานศึกษาที่มีคุณภาพทั้งระดับสากล อำเภอ และตำบล

ในส่วนของสถานศึกษาที่มีคุณภาพนั้น ศธ.ได้มุ่งเน้นไปสู่สถานศึกษาที่มีคุณภาพทั้งระดับสากล ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยเฉพาะนโยบายโรงเรียนดีระดับตำบล ในปีนี้ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนดีระดับตำบลไปแล้ว ๑๘๒ โรง ใช้งบประมาณ ๑,๑๑๗ ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ ๒๕๕๔ จะประกาศเป็น ๗,๐๐๐ โรง โดยใช้งบประมาณกว่า ๒,๒๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการยกระดับโรงเรียนในชนบทให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ไม่ให้มีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทมากจนเกินไป

เน้นกระจายอำนาจไปเขตพื้นที่และสถานศึกษามากขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการยุคใหม่นั้น ได้เน้นการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษามากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษายังคงปรากฏแต่ในกฎหมายไว้เท่านั้น ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อไป นอกจากนั้น มีการแยกเขตมัธยมศึกษาออกจากเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเน้นไปที่คุณภาพการมัธยมศึกษาอย่างแท้จริง เพื่อให้โรงเรียนมัธยมฯ ต้องสร้างเด็กที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อไปยังสถานศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า กฎกระทรวงดังกล่าวจะเป็นหลักประกันท้าทายคุณภาพการศึกษาจากการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่วัดความสำเร็จชั่วครั้งคราว แต่เป็นการวัดความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน และเป็นสิ่งยืนยันว่าจะไม่มีใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาอ้างความสำเร็จได้ แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน จึงขอฝากให้ สกศ.สร้างความตระหนัก มุ่งมั่นในเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: