วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเตรียมการรองรับ พ.ร.บ.ระเบียบ ขรก.ครูฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553

โดย : ประเสริฐ งามพันธุ์

ในสัปดาห์ที่แล้วได้สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ไปแล้ว ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าว สำนักงาน ก.ค.ศ.ในฐานะเจ้าหน้าที่ดำเนินงานของ ก.ค.ศ. ได้เตรียมการรองรับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 โดยมีภารกิจ
ที่สำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น
1.ปรับปรุงกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พร้อมเตรียมการรองรับการเลือกตั้งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
2.เสนอตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในระหว่างที่ยังไม่มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
3.ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน ก.ค.ศ.
4.ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้แก่ ผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้แทนคุรุสภา, ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และประกาศตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
5.กำหนดตำแหน่งและกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและในสถานศึกษา (ประถมศึกษา/มัธยมศึกษา)
6.กำหนดแนวทางการถ่ายโอนข้าราชการเดิมจากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
7.กำหนดแนวทางปฏิบัติและปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
การเตรียมการรองรับพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ก็เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง


สสค.หนุน 35 ล้าน ให้ 207 โครงการ รร.มัธยมทั่วปท. ต่อยอดการเรียนรู้

สสค. หนุนโรงเรียนมัธยม 59 จังหวัด ประเดิมโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ พร้อมยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนรวมงบประมาณ 35 ล้าน
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยถึงผลการประกาศสนับสนุนโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2553 (ระดับมัธยมศึกษา) ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ว่ามีโครงการผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 207 โครงการจากโรงเรียน 59 จังหวัด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 34,979,115 บาท ทั้งนี้มีสถานศึกษาส่งโครงการเข้ารับพิจารณาจำนวนรวม 1,139 โครงการ รวมงบประมาณที่เสนอขอจำนวน 267,651,528 บาท อย่างไรก็ดี สสค.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้ในรอบนี้เป็นวงเงินรวม 35,000,000 บาท โดยการพิจารณากลั่นกรองโครงการข้างต้นดำเนินการโดย ครูดีเด่น ผู้บริหารดีเด่น และผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานด้านเด็กเยาวชนถึง 52 คน
“นับว่าโรงเรียนมัธยมให้ความสนใจในการเข้าร่วมเสนอโครงการมามาก แต่มีโครงการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียงร้อยละ 18 โดยเกณฑ์ที่สสค. ใช้จัดลำดับความสำคัญ คือ 1)จัดลำดับความสำคัญแก่โครงการมีคุณภาพในระดับดีเด่น 2) จัดลำดับความสำคัญให้กับโครงการที่เสนอโดยสถานศึกษาในจังหวัดที่มีสถิติคุณภาพการศึกษาต่ำ 3) จัดลำดับความสำคัญแก่โครงการจากสถานศึกษาที่มีขนาดเล็กหรือที่มีจำนวนนักเรียนระดับมัธยมน้อย 4)จัดลำดับความสำคัญให้แก่โครงการที่เสนอของบประมาณน้อยสูงกว่าโครงการที่เสนอของบประมาณมาก และสำหรับโรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในครั้งนี้ สสค.จะสนับสนุนต่อเนื่องโดยการพัฒนาทักษะ การวางแผนและการเขียนโครงการ ซึ่งจะทำให้ต่อไปโครงการนวัตกรรมจะขยายครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ ” นพ.สุภกรกล่าว
นพ.สุภกร กล่าวต่อว่า สสค.มีจุดเน้นประการสำคัญ อาทิ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ โดย สสค. จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้จากระดับฐานล่าง สนับสนุนให้แก่ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือแม้กระทั่งนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนที่มีความตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพนักเรียนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลการประกาศผลได้ที่ www.QLF.or.th

ASTV ผู้จัดการออนไลน์


รมว.เบรกปล่อยกู้ ช.พ.ค. ก่อนคลอดนโยบายแก้หนี้ครู

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัด ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูทั้งระบบ ได้รายงานผลการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบมาให้ตนแล้ว โดยจะมีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันที่ 16 ส.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะแถลงโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ โดยรวมถึงหนี้สินครูด้วย
ต่อข้อถามถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เปิดให้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)ยื่นขอกู้ ช.พ.ค.โครงการใหม่ในวงเงินกู้สูงสุด1,200,000 บาท มีระยะเวลาชำระเงินกู้ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR-0.50 ต่อปี กำหนดให้ผู้กู้ทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทประกันชีวิตที่ได้กำหนดไว้ โดยยึดตามความสมัครใจ รวมทั้งผู้กู้ต้องยินยอมให้หักเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมความมั่นคงเป็นเงิน 2,000 บาทนั้น รมว.ศธ. กล่าวว่าโครงการดังกล่าวคงยังไม่สามารถปล่อยกู้ได้เพราะต้องรอฟังก่อนว่านโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบเป็นอย่างไร มิฉะนั้นอาจจะกระทบต่อโครงการ ช.พ.ค.6 เพราะตนยืนยันชัดเจนแล้วว่า เราจะต้องดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่อง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยลดต่ำ ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง มีกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยครูเอง มีการพัฒนาชีวิตครูอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ให้กู้ยืมอย่างเดียว
"ผมอยากแจ้งไปยังธนาคารออมสินด้วยว่า การดำเนินการใดๆขอให้ความคิดตกผลึกก่อน เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่ามีใครไปหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ และถ้าหากมีส่วนที่จะเป็นการลดหย่อนค่าใช้จ่ายก็ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ครูอย่างแท้จริง ส่วนกรณีที่นายวัฒนา วรรณโสภา รองเลขาธิการสกสค.ระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น นายวัฒนาต้องตอบคำถามเองว่าทำไมจึงลุกลี้ลุกลนรีบทำ เพราะเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ โดยทั้ง สกสค. และธนาคารออมสินก็ต้องฟังนโยบายด้วย ดังนั้นหากพบว่าสกสค.ขัดนโยบายผมจะจัดการแน่นอน" นายชินวรณ์ กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น: