วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กยศ.วางยุทธศาสตร์4ปีให้กู้เรียนเพิ่ม

นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยในปี 2553 มีผู้กู้เพิ่มขึ้น 4.5% เป็นงบประมาณในปี 2553 ทั้งสิ้น 35,070 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 9.20% เฉพาะผู้กู้ยืมปีการศึกษา 2553 ที่อนุมัติไว้ 893,353 ราย วงเงิน 35,070 ล้านบาท แยกเป็น รายเก่า 563,731 ราย และรายใหม่ 329,622 ราย ซึ่งมีผู้กู้ยืมรายเก่าขอกู้มาสูงกว่าประมาณการ

ทั้งนี้กองทุนดำเนินการในภารกิจที่สำคัญ ตามกรอบแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุน 4 ปี (2553-2556) ด้านการกู้ยืม ในปีงบประมาณ 2553 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ดำเนินการพัฒนางานด้านการให้กู้ยืมเงิน โดยการเพิ่มช่องทางการบริหารเงินกองทุนสำหรับนักศึกษามุสลิม ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และปรับสัดส่วนเงินกู้ยืมแก่การศึกษาสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการชำระหนี้ กองทุนให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนนักศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 3,475,458 ราย เป็นผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้จำนวน 2,129,904 ราย มาติดต่อชำระหนี้ 1,598,572 ราย คิดเป็น 75.05% ทั้งนี้ เงินที่ต้องชำระ 29,284 ล้านบาท และได้รับชำระ 16,426 ล้านบาท หรือ 56.09% สำหรับการติดตามและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องดำเนินคดี ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้จำนวน 2,129,904 ราย เป็นผู้กู้ยืมที่ไม่มาติดต่อชำระหนี้จำนวน 531,332 ราย คิดเป็น 24.95%

"กองทุนได้ดำเนินการติดตามตามขั้นตอนที่กำหนด แต่หากค้างชำระหนี้ติดต่อกันเกินกว่า 4 ปี หรือ 5 งวดขึ้นไป จะขาดอายุความไม่สามารถเรียกร้องเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมได้ ดังนั้นกองทุนจำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กู้ยืม อย่างไรก็ตาม ก่อนการฟ้องร้องในแต่ละปีกองทุนได้จัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน" นายธาดากล่าว

นายธาดา กล่าวว่า กองทุนมีนโยบายการพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเห็นว่าความต้องการของตลาดแรงงานมีความต้องการด้านสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ ดังนั้นจึงกำหนดสัดส่วนการให้กู้เงิน สายสามัญต่อ สายอาชีพ จาก 60:40 เป็น 40:60 ส่วนระดับอุดมศึกษาได้เน้นส่งเสริมสาขาที่เป็นความต้องการ สาขาที่เน้นหนักในทางวิชาชีพที่มีงานทำ

นายบุญชัย ศศิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายบริหารโครงการภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การชำระหนี้ในปัจจุบันยังไม่ครบ 100% แต่ กยศ.มีกำหนดเงื่อนไขว่าหากไม่ชำระ 5 งวดต่อเนื่อง ก็จะถูกยกเลิกสัญญาและต้องถูกดำเนินคดี โดยขณะนี้มีประมาณ 8 หมื่นรายที่ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาและถูกดำเนินคดี จากลูกหนี้ทั้งหมด 2 ล้านคน

180 วัน รมว.ศธ.ชินวรณ์ ร้อยเรียนรู้มุ่งสู่การพัฒนา

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2553 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลงผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยมีการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการศึกษา และมีกรอบแนวทาง 4 ประการ คือ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาครูยุคใหม่ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาได้มีการเร่งรัดดำเนินงานภายใต้นโยบายการพัฒนาการศึกษาในหลายด้าน ประกอบด้วย การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยมีการประชุมคณะกรรมการ 2 คณะ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะอนุกรรมการฯ อีก 5 คณะ เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนอกจากนี้ได้จัดสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง : คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมทั้งประกาศปฏิญญาร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2553
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินงานในโครงการต่างๆ เช่น 1)โครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยได้จัดสรรงบประมาณในปีที่สอง จำนวน 73,494,518,300 บาท เป็นค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2)การจัดตั้งโรงเรียนดีประจำตำบลโดยนำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา รวม 182 โรงเรียน และจะเร่งผลักดันให้ครบทุกตำบลในอีก 7,409 แห่ง ภายในเดือนตุลาคม 2553 3)การพัฒนาการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดให้มีโรงเรียนดีมีคุณภาพระดับจังหวัดและอำเภอ 90 โรง โรงเรียนมีชื่อเสียง 11 โรงพัฒนาคู่ขนาดระหว่างโรงเรียนสังกัดสพฐ.กับศูนย์การศึกษาประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในโรงเรียนของรัฐ 190 โรง การจัดการเรียนการสอนสองภาษา (ไทย-มลายู) จัดตั้งสถาบันฮาลาล เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 4)การสร้างแหล่งเรียนรู้ราคาถูก : กศน.ตำบล เพื่อส่งเสริมการอ่าน โดยมีศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน และจัดให้มีอาสาสมัครการอ่านด้วย 5)การจัดโครงการติวเข้มเติมเต็มความรู้ Student Channel เพื่อสร้างความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดโอกาสให้มีโอกาสได้เรียนและมีทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลาย 6)โครงการทีวีครู (ThacherTV)เพื่อเป็นสื่อกลางให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน โดยมีรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนและนวัตกรรมใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนครู 7)การสร้างขวัญและกำลังใจครู ซึ่งได้ผลักดัน พ.ร.บ.เงินเดือนครูและเงินวิทยฐานะ เพื่อให้ครูได้รับสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และ8)สนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
“สำหรับในปี 2554 จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และส่งเสริมปัจจัยต่างๆที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยต้องกำหนดกระบวนการให้องค์กรหลักและหน่วยราชการในกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง การพัฒนาขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะต้องเดินหน้าในการขับเคลื่อนในปีการศึกษาหน้า ตลอดจนการผลิต การพัฒนา การใช้ การเลื่อน วิทยฐานะครู และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป” รมว.ศธ.กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: