วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

41เขตพื้นที่มัธยม

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเสนอเรื่องการกำหนดจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) ว่าจะมีกี่เขต โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความเห็นว่า น่าจะเป็นไปตามผลการศึกษาศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา 41 เขต ซึ่งมีข้อมูล หลักการ เหตุผลรองรับ และได้เตรียมการไว้แล้ว หาก สกศ.มีมติให้ตั้งเขตพื้นที่ฯมัธยมฯ 41 เขตตามที่เสนอก็สามารถปรับศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษามาเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาได้เลย โดยจะมีการจัดสรรบุคลากรมายังเขตพื้นที่ฯมัธยมฯต่อไป แต่ในระยะแรกอาจยังไม่ได้จำนวนบุคลากรเต็มตามกรอบอัตรากำลังที่กำหนดไว้ว่า จะมีบุคลากรเขตพื้นที่ฯ ละ 30-37 คน ส่วนงบฯที่จะ จัดสรรให้แต่ละเขตพื้นที่ฯนั้น ต้องมีการประชุมกันอีกครั้ง เพราะงบฯที่ สพฐ.ได้รับมาจะต้องจัดสรรโดยไม่ให้เกิด ผลกระทบกับทั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ และเขตพื้นที่การศึกษาหรือ สพท.เดิม

ดร.ชินภัทร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เห็นชอบในหลักการตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่เป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อไม่ให้การโยกย้ายบุคลากรของระดับมัธยมศึกษาหยุดชะงักนั้น เมื่อ สกศ.มีการตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และมีการแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯชุดนี้แล้ว ตนในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ วิสามัญฯ ก็จะประสานหารือ กับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ว่า จะมีกลไกการบริหารจัดการอย่างไรต่อไป.

ร.ร.หลักสูตร EP

(4ส.ค.) เดอะมอลล์งามวงศ์วาน - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงานมหกรรมวิชาการ EP Open House 2010 ภาคกลาง “Excellence with a Sense of Global Citizenship” โดยมีนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ งานมหกรรมวิชาการ EP Open House 2010 เป็นการจัดนิทรรศการวิชาการ แสดงผลงานนักเรียนของโรงเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นภาษาอังกฤษ (English Program/Mini English Program) ในภาคกลางและแสดงผลงานนักเรียนที่มีทักษะทางวิชาการเป็นเลิศ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันทักษะทางวิชาการในระดับภูมิภาค จำนวน 80 โรงเรียน 24 จังหวัด

นายชินภัทร กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมวิชาการโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตร ศธ.เป็นภาษาอังกฤษเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงผลงานการพัฒนาการเรียน การสอนและความก้าวหน้าด้านองค์ความรู้ในเนื้อหาและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียน รวมทั้งการนำเสนอผลงานนักเรียนที่เน้นการบูรณาการระหว่างรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศษสตร์และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนตามความถนัด ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และการคิดไตร่ตรอง

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียน English Program (EP) และ Mini English Program (MEP) ในภาคกลางจำนวน 80 โรงเรียน 24 จังหวัด เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ส.ค. นี้ ที่เอ็มซีซีฮอล์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน อย่างไรก็ตามกิจกรรมในการจัดงานดังกล่าวจะมีทั้งการแข่งขันร้องเพลง สุนทรพจน์ การสะกดคำ การเล่านิทาน ละครสั้น ตอบปัญหาและโครงงงานวิชา ซึ่งทุกกิจกรรมที่แข่งขันนั้นใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: