วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การสละสิทธิ์-บริจาค เรียนฟรีปี ’53

สพฐ.เผยยอดสละสิทธิ์-บริจาค เรียนฟรีปี’53 ล่าสุด รวม 23 ล.บาทเศษ คาดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4 ล.ขณะที่เงินบริจาคโดยไม่ระบุวัตถุประสงค์ให้โรงเรียนนำไปใช้ได้ทันที เตรียมชง “ชินวรณ์” อนุมัติใช้เงินสละสิทธิ์จัดสร้างสื่อการเรียนสอนให้โรงเรียน แทนการกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก

ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้รณรงค์ให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถสละสิทธิ์ หรือบริจาคเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งรัฐจัดสรรให้ตามโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ประจำปีการศึกษา 2553 นั้น ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา มีนักเรียนสละสิทธิ์และบริจาครวมทั้งสิ้น 23,391,640 บาท จำแนกเป็นยอดสละสิทธิ์ 9,246,830 บาท แบ่งเป็นสละสิทธิ์ค่าเครื่องแบบ 12,173 คน เป็นเงิน 5,275,490 บาท สละสิทธิ์ค่าอุปกรณ์ 9,719 คน เป็นเงิน 3,971,340 บาท และยอดบริจาค 14,144,810 บาท แบ่งเป็นบริจาคค่าเครื่องแบบ 19,190 คน เป็นเงิน 7,469,980 บาท และบริจาคค่าอุปกรณ์ 17,350 คน เป็นเงิน 6,674,830 บาท ทั้งนี้ หากรวบรวมยอดเงินที่ได้จากการสละสิทธิ์และบริจาคค่าเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนในปีการศึกษา 2553 จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศแล้วเสร็จ และเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2552 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านบาท โดยในปี 2552 มียอดสละสิทธิ์ประมาณ 20 ล้านบาท

ดร.รังสรรค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเงินบริจาคที่เด็กและผู้ปกครองที่แจ้งความประสงค์บริจาคให้โรงเรียนที่ตนเองศึกษาอยู่ จะมีทั้งส่วนที่ระบุความประสงค์ในการบริจาคว่าต้องการให้ทำอะไรและไม่ระบุความประสงค์ ซึ่งในส่วนที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ ทางโรงเรียนก็สามารถนำไปพัฒนาสถานศึกษาในด้านต่างๆ ได้เลย โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะทำเงินที่ได้รับจากการบริจาคไปใช้ในกิจกรรมที่ส่งผลกลับคืนสู่เด็ก สำหรับเงินที่ได้จากการสละสิทธิ์ประมาณ 10 ล้านบาท หากนำไปเฉลี่ยจัดสรรให้แก่โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินสถานศึกษาภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบสอง ที่แจ้งผลแล้วประมาณ 3,000 แห่ง แต่ละแห่งคงได้รับไม่มากนัก และไม่สามารถดำเนินการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นตนจะเสนอต่อ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เพื่อพิจารณาให้นำเงินดังกล่าวมาจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในกลุ่มนี้ โดยจัดทำสื่อในส่วนที่โรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน และจะเสนอ รมว.ศธ.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

“จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า โรงเรียนที่ไม่ผ่าประเมินรอบสองของ สมศ.3,000 แห่ง ส่วนใหญ่เด็กจะไม่ผ่านมาตรฐานการคิดวิเคราะห์ และ นิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ส่วนครูจะไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องไม่เปลี่ยนพฤติกรรรมการเรียนการสอนมายึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และโรงเรียนขาดครู ดังนั้น ผมจะเสนอให้ สพฐ.จัดทำสื่อที่ตอบสนองต่อการยกมาตรฐานที่โรงเรียนไม่ผ่านการประเมินดังกล่าว” ดร.รังสรรค์ กล่าว

กำหนดกรอบอัตรากำลัง สพท.มัธยม

นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงแนวทางการจัดสรรบุคลากรภายหลังการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาว่า เรื่องนี้ต้องเสนอให้บอร์ด ก.ค.ศ.พิจารณาแนวทางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรบุคลากร ซึ่งในส่วนของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯนั้น คงไม่สามารถแต่งตั้งให้ผู้ที่เป็นหัวหน้าศูนย์ ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา 41 เขตเป็น ผอ.ได้ เพราะตำแหน่งดังกล่าวต้องมีการรับสมัครคัดเลือกเพื่อแต่งตั้ง เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าช่วงแรกจะมีการแต่งตั้งผู้ที่สอบขึ้นบัญชี ผอ.สพท.ไว้จำนวน 48 คน ให้ได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ก.ค.ศ. ส่วนการจัดสรรบุคลากรในเขตพื้นที่นั้น ต้องให้ ก.ค.ศ.กำหนดกรอบอัตรากำลังก่อนจากนั้นจะมีการตัดอัตรากำลังไปในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งตามกระบวนการจะต้องสอบถามความสมัครใจของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาด้วย

ด้านนายวิศร์ อัครสันตติกุล ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นใน ก.ค.ศ. กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้รับเสียงสะท้อนมาว่า การที่ ก.ค.ศ.มีมติให้ชะลอการ

ดำเนินการบริหารงานบุคคล วินัย และอุทธรณ์ในระดับมัธยมฯ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียโอกาสหลายเรื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะให้ปรับลดจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในกรุงเทพมหานครและนนทบุรีนั้น ขณะนี้ ก.ค.ศ.กำลังเร่งหาทางออกว่าจะจัดสรรตำแหน่งใหม่ให้กับ ผอ. สพท.เดิม อย่างไร เพราะเกรงว่าหากดำเนินการไม่ เหมาะสมแล้ว อาจมีกรณีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้.

สทศ.พร้อมสอบโอเน็ตฉบับสั้น ป.6 ม.3 ก.พ.54

สทศ.พร้อมสอบโอเน็ตฉบับสั้นป.6 ม.3 ก.พ.54 นี้ ย้ำเหตุโรงเรียนต้นสังกัดไม่ได้นำผลสอบ โอเน็ตไปใช้ได้อย่างคุ้มค่ากับเวลาสอบ งบประมาณและแรงงานที่เสียไป ขณะที่ โอเน็ตฉบับสั้นครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่นักเรียนจะทำข้อสอบลดลง ไม่เสียเวลานาน แจงคะแนนช่วงชั้นผู้เข้าสอบได้คะแนนสูงสุดในแต่ละวิชา
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)ได้ประกาศผลสอบสอบความถนัดทั่ว ไป (แกต) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (แพต) ครั้งที่ 2/2553 ใน การสอบเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาไปตั้งแต่เมื่อเวลา 15.00 น.ของวันที่ 4 ส.ค.นั้นซึ่งถือว่าสามารถประกาศได้เร็วจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 5 ส.ค. ปรากฎว่ามีนักเรียนเข้ามาดูผลสอบแล้วถึง 130,000 คน และไม่มีปัญหาระบบล่ม
โดยสำหรับนักเรียนที่ทราบผลคะแนนสอบ แกต/แพตของ ตนเองแล้ว ต้องการตรวจสอบกระดาษคำตอบสามารถยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบได้ตั้งแต่วันที่ 6-8 สิงหาคม 2553 เวลา 08.30-16.30 น.ค่าธรรมเนียมในการขอดูกระดาษคำตอบ วิชาละ 20 บาทต่อคนต่อวิชาหากเลยกำหนดการรับยื่นคำร้องแล้ว สทศ.จะไม่รับการยื่นคำร้องในภายหลัง และสามารถดูกระดาษคำตอบได้ในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2553 เวลา 09.00-16.00 น.เพียงวันเดียวเท่านั้น
ส่วนช่วงชั้นที่ผู้เข้าสอบทำคะแนนได้มากที่สุดในแต่ละวิชามีดังนี้ แกต เข้าสอบ 222,066 คน ช่วงชั้นทำคะแนนมากที่สุด 30.01-180.00 คะแนน จำนวน 167,398 คน แพต 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ เข้าสอบ 131,335 คน ช่วงชั้น 30.01-90.00 คะแนน จำนวน 109,506 คน แพต2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 133,002 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 116,226 คน แพต3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 28,745 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 19,904 คน แพต 4ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 13,828 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 9,911 คน แพต 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู เข้าสอบ 102,219 คน ช่วงชั้น 90.01-150.00 คะแนน จำนวน 80,981 คน
แพต6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 15,262 คน ช่วงชั้น 90.01-150.00 คะแนน จำนวน13,136 คน แพต7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส เข้าสอบ 3,323 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 2,651คน แพต7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน เข้าสอบ 579 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 425 คน แพต 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น เข้าสอบ 2,920 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 2,084 คน แพต 7.4 ความถนัดทางภาษาจีนเข้าสอบ 5,007คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 4,164 คน แพต 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ เข้าสอบ 590 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 490 คน และ แพต7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี เข้าสอบ 228 คน ช่วงชั้น 60.01-120.00 คะแนน จำนวน 210 คน
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่สทศ.จะปรับการจัดทำข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้น ฐาน หรือ โอเน็ตของนักเรียน ป.6 และ ม.3 ที่จะสอบในปี 2554 มาเป็นข้อสอบฉบับสั้นนั้นขณะนี้สทศ.ได้กำหนดตารางสอบเรียบร้อยแล้วโดยข้อสอบ โอเน็ตของป.6 จะสอบในวันอังคารที่ 1 ก.พ. 2554 และม.3 สอบวันที่ 2 ก.พ.ทั้งหมด 8 กลุ่มสาระคือสังคมศึกษาฯ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ รวม 40 ข้อ ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานและอาชีพและเทคโนโลยี จำนวน 50 ข้อใช้เวลา 1.30 น. ส่วนนักเรียนชั้นม.6 นั้น สอบวันที่ 19 ก.พ.โดยยังเป็นข้อสอบฉบับยาวจำนวน 6 วิชา คือ สังคมศึกษาฯ คณิตศาสตร์ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานและอาชีพและเทคโนโลยี วิชาละ 2 ชั่วโมง ประกาศผลสอบวันที่ 10 เม.ย.2554 และโรงเรียนสามารถเข้ามาดูผลสอบได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2554
“เหตุผลที่สทศ.ใช้ข้อสอบโอเน็ตฉบับสั้นเพราะโรงเรียนต้นสังกัดไม่ได้นำผลสอบ โอเน็ตไปใช้ได้อย่างคุ้มค่ากับเวลาสอบ งบประมาณและแรงงานที่เสียไป ดังนั้นสทศ.จึงจัดทำข้อสอบฉบับสั้นซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่นักเรียนจะทำข้อสอบลดลง ไม่เสียเวลานาน โดยที่ผ่านมาสทศ.ได้ทำการวิเคราะห์ข้อสอบฉบับสั้นและฉบับยาวแล้วพบว่าสามารถ วัดผลได้เหมือนกัน “ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: