วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อนุ กก.คุรุศึกษาฯ ชงครูเกษียณ 65 ปี

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 5/2553 ณ ห้องประชุมลำพอง 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า คณะอนุกรรมการคุรุศึกษาฯได้กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการเร่งด่วนในการปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการผลิต และการใช้ครู โดยให้มีสถาบันเฉพาะทางที่ให้ความสำคัญกับการผลิตครูตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย มีการจัดสถานที่ และสิ่งแวดล้อมที่บ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม และจิตวิญญาณความเป็นครู ปรับโครงสร้างหลักสูตรการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เป็นหลักสูตร 5 บวก 1 และได้รับวุฒิปริญญาโท เพื่อเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งขยายอายุราชการครูที่มีความรู้ความสามารถจากเดิมเกษียณอายุราชการ 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ตลอดจนปรับอัตรากำลังครูให้เหมาะสมในการปฏิบัติงานกับขนาดของโรงเรียน และปรับลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า 2. ด้านการพัฒนา จะปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแบบเหมารวม เป็นให้อิสระแก่ครูเลือกเข้ารับการอบรมตามความต้องการ และสอดคล้องกับวิชาที่สอน จัดรูปแบบ และพัฒนาครูให้มีความหลากหลาย และต่อเนื่องตลอดชีวิตของการประกอบวิชาชีพครู 3.ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู ทั้งการพัฒนาคณาจารย์ คุณวุฒิ ตำแหน่งทางวิชาการ หลักสูตร การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการ โดยจัดเป็นคลัสเตอร์คุรุศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน และ 4.สร้างกลไกเงื่อนไขเพื่อขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ โดยจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์กรระดับชาติ ทั้งนี้ จะเสนอเรื่องดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) เพื่อพิจารณาต่อไป.

เจ้าหน้าที่ สพท.แห่ขอสังกัด สพม.
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สพฐ.ได้ยกร่างหลักเกณฑ์การแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เสร็จแล้ว โดยยึดโครงสร้างของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เดิมเป็นพื้นฐาน แต่ตัดกลุ่มงานส่งเสริมประสิทธิภาพออก และแบ่งกลุ่มอำนวยการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารการเงินและสินทรัพย์ ส่วนกลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชนจะมีเฉพาะ สพป.เท่านั้น หลังจากนี้ สพฐ.จะเสนอการแบ่งส่วนราชการของ สพม. และ สพป.ให้บอร์ด กพฐ. เห็นชอบในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามประกาศการแบ่งส่วนราชการของ สพม. และ สพป.ต่อไป

ดร.ชินภัทร กล่าวต่อไปว่า จากนั้น สพฐ.จะส่งเรื่องการแบ่งส่วนราชการไปให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลัง ซึ่งจะต้องเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา และอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารงานบุคคลของ สพม.จะอยู่ในการดูแลของคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่มีตนเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจความเห็นของบุคลากรใน สทท.เดิมมาสังกัด สพม.นั้น มีบุคลากรแจ้งความจำนงเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ สพฐ.จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าให้มาอยู่กับ สพม.เยอะจนเกินไป เพราะยังต้องมีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ใน สพป.

ที่มา : เดลินิวส์ 1 ก.ย.53


เครือข่ายการศึกษาทางเลือก จี้ ศธ.เลิกยุบ ร.ร.เล็ก เปิดทางชุมชนเทกโอเวอร์แก้ปัญหา

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตัวแทนกลุ่มการศึกษาทางเลือก จากหลายเครือข่าย กว่า 100 คน จัดประชุมสภาการศึกษาทางเลือกเป็นครั้งแรก โดย นายสุรพล ธรรมร่มดี คณะทำงานฝ่ายวิชาการ สภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า จุดยืนและบทบาทการจัดการศึกษาทางเลือกปี 2553 นั้นจะมุ่งผลักดันแผนพัฒนาการศึกษาทางเลือกสู่วาระการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ให้การศึกษาทางเลือกเข้าไปมีบทบาททำให้การปฏิรูปการศึกษาให้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนส่งเสริม และออก พ.ร.บ.ส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองการศึกษาทางเลือกขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิดที่จะยุบเลิก ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 12,000 แห่งทั่วประเทศ แล้วเปิดโอกาสชุมชน ท้องถิ่น ได้จับมือกับกลุ่มการศึกษาทางเลือก เข้าไปเทคโอเวอร์แก้ปัญหากลุ่มโรงเรียนดังกล่าว

นายสุรพล กล่าวต่อว่า ในด้านวิชาการนั้น เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สนับสนุนกลุ่มการศึกษาทางเลือก นำเอาหลักสูตรแกนกลางของ ศธ.มาปรับปรุงประยุกต์ให้เป็นหลักสูตรที่เหมาะสม และอยากเรียกร้องให้ระบบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ได้พัฒนาการให้มีวิธีการที่หลากหลาย มากกว่าการวัดความสำเร็จของผู้เรียน โดยยึดการสอบแข่งขัน ผ่านระบบ Admission เหมือนอย่างทุกวันนี้

นายยุทธชัย เฉลิมชัย ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา จำนวน 12 ข้อ ที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น มีอยู่ 2 ข้อ ที่จะส่งเสริมการจัดการศึกษาคู่ขนานระหว่างการศึกษาในระบบกับการศึกษาทางเลือก โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าการศึกษาในระบบจะรับผิดชอบผู้เรียนราว 9 ล้านคน การศึกษานอกระบบ การศึกษาทางเลือกรับผิดชอบ 3 ล้านคน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลมีนิยามเรื่องการศึกษาทางเลือกอย่างไร กลุ่มเป้าหมายเด็กนอกระบบ เด็กการศึกษาทางเลือก 3 ล้านคน ครอบคลุมเด็กประเภทใดบ้าง และจะให้หน่วยงานใดดูแล

“ในยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ ยังมีเรื่องยุบโอนเลิกกิจการโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐโดยตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี จะต้องยุบให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด ตอนนี้ก็ตะลุยยุบแล้ว ซึ่งกลุ่มการศึกษาทางเลือกเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็ก มีทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้มากมายทั้งอาคาร สถานที่ ครู บุคลากรทางการศึกษา ถ้าใช้วีธียุบก็จะสร้างความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐกับชุมชน จึงควรทบทวนความคิดโดยให้ชุมชนท้องถิ่นรับผิดชอบโรงเรียนขนาดเล็กแทนการยุบเลิก ถ้าชุมชนไหนไม่พร้อมค่อยยุบเลิกควบรวม” นายยุทธชัย กล่าว

นายยุทธชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศธ.ควรพิจารณาปฏิรูปการทำงานของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เป็นหน่วยงานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีบทบาทจัดการศึกษาเอง แต่หันมาส่งเสริม สนับสนุนองค์กร ชุมชน เครือข่ายต่างๆ ในการจัดการศึกษานอกระบบ ทั้งนี้ กศน.มีงบประมาณสนับสนุนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนทั่วประเทศตามโครงการไทยเข้มแข็ง แถมมีความคิดที่จะนำงบประมาณไปเทคโอเวอร์โรงเรียนขนาดเล็กที่จะถูกยุบ ควรจะปรับแนวคิดมาสนับสนุนกลุ่มการศึกษาทางเลือกที่มีความเข้มแข็งในการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบที่หลากหลายอยู่แล้ว ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จจะดีกว่า

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: