วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ ๗

ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญๆ ดังนี้

แนวทางการพัฒนาระบบตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒)
เพื่อให้การปรับเปลี่ยนการกำหนดตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) ได้มีการดำเนินการที่เป็นไปอย่างถูกต้อง มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน เพียงพอและเป็นที่ยอมรับ จึงเห็นควรดำเนินการดังนี้

๑. ให้สำนักงานคณะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะงานที่ปฏิบัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) พร้อมทั้งจัดทำคำอธิบายและข้อมูลสนับสนุน จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้คำอธิบายที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับประกอบการพิจารณาปรับพระราชบัญญัติ ๓ ฉบับที่เกี่ยวข้องต่อไป

๒. ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) เพื่อทำหน้าที่ศึกษาปัญหา อุปสรรค ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาระบบตำแหน่งตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) โดยมีนายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน. เป็นประธานอนุกรรมการ

อนุมัติกรอบแนวทางการตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

ตามที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ ต้องดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งในมาตรา ๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดว่า “ในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญนั้น มีผลผูกพันและใช้บังคับได้ดังเช่น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา” ซึ่งองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเพื่อทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกอบด้วย

๑.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน
๒.ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๔ คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย และด้านการเงินการคลัง ด้านละ ๑ คน (สพฐ.เสนอรายชื่อ)
๓.ผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ. ๑ คน (สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอรายชื่อ)
๔.ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๑ คน (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เสนอรายชื่อ)
๕.ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาสายมัธยมศึกษา ผู้แทนข้าราชการครูในสถานศึกษาสายมัธยมศึกษา และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น จำนวน ๕ คน (สพฐ.เสนอรายชื่อ)
๖.เจ้าหน้าที่ที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบหมายให้เป็นกรรมการและเลขานุการ จำนวน ๑ คน
๗.เจ้าหน้าที่ที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน ๒ คน

ย้ายและแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยได้ย้ายนายโกวิท เพลินจิต จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๓ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายโสธร เขต ๑ และย้ายนายถาวร คณิรัตน์ จากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต ๔ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๓ นอกจากนี้ ได้บรรจุและแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นายสุวิทย์ เพ็ชรรัตน์ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต ๓ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต ๔.

ไม่มีความคิดเห็น: