วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ไทย-จีนลงนามยอมรับปริญญาและแลกเปลี่ยนนักศึกษา

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ Mr.Yuan Guiren รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยอมรับปริญญาระดับอุดมศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการรับรองคุณวุฒิการศึกษาปริญญา และแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาของทั้งสองฝ่าย ให้ไปศึกษาต่อในอีกประเทศหนึ่งได้
รมว.ศธ.กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการรับรองคุณวุฒิการศึกษาและปริญญาในระดับอุดมศึกษา ปริญญาเหล่านี้ มอบให้โดยสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยและจีน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาของทั้งสองฝ่ายให้ไปศึกษาต่อในอีกประเทศหนึ่ง
โดยกรอบของความตกลง ใช้เพื่อการยอมรับคุณวุฒิและปริญญาหรือประกาศนียบัตร ซึ่งประสาทโดยสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยไทยระหว่างประเทศทั้งสอง โดยที่ภาคีทั้งสองประเทศให้ความเคารพในเสรีภาพทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานรัฐบาลของแต่ละประเทศที่มีอำนาจจะตัดสินใจและยอมรับคุณวุฒิของผู้ที่สำเร็จการศึกษา

ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัย ที่ต้องการศึกษาต่อ

สถาบันอุดมศึกษาทั้งสองประเทศ สงวนสิทธิ์ในการตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติ ผลการเรียนและผลการทดสอบของผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาในทุกหลักสูตร ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสถาบันนั้นๆ โดยหน่วยงานหรือองค์การของทั้งสองประเทศที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ และวุฒิการศึกษาของนักศึกษาโดยเทียบกับคุณวุฒิและปริญญา รวมทั้งกฎระเบียบของแต่ละสถาบัน สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรวิชาชีพที่ต้องอาศัยใบประกอบวิชาชีพที่ออกโดยสมาคมวิชาชีพ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของสมาคมวิชาชีพนั้นๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากรัฐบาล สามารถสมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทอีกประเทศหนึ่งได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของการรับเข้าศึกษาต่อของสถาบันนั้นๆ และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาตรีที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเลิศจากประเทศของตนสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกอีกประเทศหนึ่งได้ โดยจะพิจารณาจากสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ผ่านมา หรือขึ้นอยู่กับหัวข้อการวิจัย และเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันนั้นๆ

คุณวุฒิการศึกษาของจีน
รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับระบบการศึกษาจีนเป็นระบบ ๖-๓-๓ คือระดับประถมศึกษา ๖ ปี มัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๓ ปี ผู้จบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งออกเป็น ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรการศึกษาบัณฑิต ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโทและปริญญาเอก ดังต่อไปนี้
- ประกาศนียบัตรชั้นสูง นักศึกษาที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อผ่านการทดสอบเข้าศึกษาวิทยาลัยระดับชาติแล้ว สามารถที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาหรือวิทยาลัยเทคนิคได้ หลังจากศึกษา ๒ ถึง ๓ ปี จบหลักสูตรแล้วก็จะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง สำหรับผู้ที่พลาดการทดสอบเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค อาจจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง ถ้าสามารถที่จะผ่านการทดสอบแบบทดสอบสำหรับผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองระดับชาติ
- ประกาศนียบัตรการศึกษาบัณฑิตและปริญญาตรี นักศึกษาที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรเต็มเวลาได้เมื่อผ่านการทดสอบเข้าศึกษาวิทยาลัยระดับชาติได้แล้ว เมื่อศึกษาไปได้ ๔ ปี ก็จะได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาบัณฑิต (การศึกษาด้านการแพทย์ใช้เวลาศึกษา ๕ ปี) นักศึกษาที่ศึกษาครบตามหลักสูตรก็จะขอรับการประสาทปริญญาตรี สำหรับผู้ที่พลาดการเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาหลักสูตรเต็มเวลา อาจจะได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาบัณฑิต ถ้าผู้นั้นผ่านการทดสอบแบบทดสอบสำหรับผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองระดับชาติ ผู้ที่ผ่านการทดสอบดังกล่าวสามารถยื่นขอรับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะได้
- ปริญญาโท ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าสามารถสมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทในสถาบันที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ (สถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัย) เมื่อผ่านการทดสอบการสอบคัดเลือกของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยนั้นๆแล้ว ด้วยระยะเวลาศึกษาประมาณ ๒-๓ ปีเมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะได้รับวุฒิปริญญาโท ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีก็สามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรบางเวลาในสถาบันที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะได้ เมื่อศึกษาครบหลักสูตรก็จะได้รับปริญญาโท
- ปริญญาเอก ผู้ที่ได้รับปริญญาโทสามารถสมัครเข้าศึกษาในสถาบันที่จัดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก (สถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะให้ประสาทปริญญาเอก) เมื่อผ่านการทดสอบให้เข้าศึกษา/วิจัย เป็นเวลา ๓ ปีขึ้นไป เมื่อศึกษาครบตามหลักสูตรก็จะได้รับปริญญาเอก ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทสามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกหลักสูตรบางเวลาได้ และจะได้รับการประสาทปริญญาเอกจากสถาบันที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ เมื่อศึกษาครบหลักสูตร บางสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะให้จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกได้เลย โดยมีระยะเวลาศึกษา/วิจัยตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป เมื่อศึกษาครบหลักสูตรก็จะได้รับปริญญาเอก
คุณวุฒิการศึกษาของไทย
ส่วนระบบการศึกษาไทยเป็นระบบ ๖-๓-๓ เช่นเดียวกันคือ ประถมศึกษา ๖ ปี มัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปีเป็นการศึกษาภาคบังคับ และเมื่อศึกษาต่ออีก ๓ ปีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖) ส่วนปริญญาการศึกษาระดับอุดมศึกษาประกอบด้วยอนุปริญญา ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ปริญญาเอก ดังต่อไปนี้
- อนุปริญญา และประกาศนียบัตร การศึกษาระดับอนุปริญญาเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาทั้งในด้านความรู้และทักษะเพื่อการประกอบอาชีพในระดับการจัดการ หรือเพื่อการประกอบวิชาชีพ และเป็นพื้นฐานภาคทฤษฏีและการวิจัย ซึ่งนำไปสู่ปริญญาตรี ผู้ที่จะเข้าศึกษาระดับดังกล่าว ต้องจบการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า การเรียนการสอนระดับอนุปริญญาซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นหลักสูตร ๒ ปี ศึกษาอย่างต่ำ ๖๐ หน่วยกิต ส่วนหลักสูตร ๓ ปี ศึกษาอย่างต่ำ ๙๐ หน่วยกิต สำหรับหลักสูตรอนุปริญญาซึงจัดการเรียนการสอนโดยวิทยาลัยชุมชน ศึกษาอย่างต่ำ ๘๔ หน่วยกิต
- ปริญญาตรี โครงสร้างการศึกษาระดับปริญญาตรีของไทยขึ้นอยู่กับวิชาและคณะที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรส่วนใหญ่ใช้เวลาศึกษาเต็มเวลา ๔ ปี ศึกษาอย่างต่ำ ๑๒๐ หน่วยกิต ยกเว้นหลักสูตรในสาขาวิชาที่มีข้อกำหนดทางวิชาการเฉพาะ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เป็นหลักสูตร ๕ ปี ศึกษาอย่างต่ำ ๑๕๐ หน่วยกิต ส่วนหลักสูตร การแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เป็นหลักสูตร ๖ ปี และศึกษาอย่างต่ำ ๑๘๐ หน่วยกิต ส่วนการศึกษาต่อเนื่องในระดับปริญญาตรีจะต้องศึกษาอย่างต่ำ ๗๒ หน่วยกิต ซึ่งการศึกษาต่อเนื่องจะรับผู้ที่เรียนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูงหรือเทียบเท่า หรือผู้ที่ได้รับอนุปริญญาที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วย โดยใช้เวลาในการศึกษา ๔,๕ หรือ ๖ ปี
- ประกาศนียบัตรบัณฑิต การศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตจะต้องศึกษาอย่างต่ำ ๒๔ หน่วยกิต ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าสามารถสมัครเข้ารับการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตได้ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้ทางด้านวิชาการหรือการศึกษาเพื่ออาชีพขั้นสูงกว่าระดับปริญญาตรี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพ แต่ขาดคุณสมบัติที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการทำการวิจัยหรือทำโครงการศึกษาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
- ปริญญาโท ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าสามารถสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทได้ โดยจะต้องศึกษาอย่างต่ำ ๓๖ หน่วยกิต นักศึกษาสามารถเลือกหลักสูตรที่มีพื้นฐานการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ หรือจะเลือกศึกษาหลักสูตรที่ใช้การบรรยายและทำโครงการการศึกษาด้วยตนเอง
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตขั้นสูง เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่ต้องการคุณวุฒิวิชาชีพในระดับสูง และเป็นหลักสูตรเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งมีสาขาวิชาจำกัด เป็นการศึกษาวิชาชีพที่อยู่ระหว่างปริญญาโทกับปริญญาเอก หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรด้าน การแพทย์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น เภสัชศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่าสามารถสมัครเข้าศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงได้ เป็นหลักสูตรไม่เกิน ๓ ปี และต้องศึกษาอย่างต่ำ ๒๔ หน่วยกิต
- ปริญญาเอก เป็นการศึกษาระดับสูงที่สุดในระดับบัณฑิตศึกษา ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีผลการเรียนในระดับปริญญาตรีอยู่ในเกณฑ์ดีเลิศ หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ผู้ที่จบปริญญาโทจะต้องศึกษาอย่างต่ำ ๔๘ หน่วยกิต ส่วนผู้ที่จบปริญญาตรีจะต้องศึกษาอย่างต่ำ ๗๒ หน่วยกิต จึงจะได้รับปริญญาเอก

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ได้ลงนามแล้ว ถือว่าความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ภาคีลงนาม ส่วนความตกลงอาจจะต่ออายุด้วยความเห็นร่วมกันของภาคีหรืออาจจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลา ๖ เดือน.

ไม่มีความคิดเห็น: