วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สกศ.เผยผลการวิเคราะห์สมรรถนะ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล พ.ศ. 2552 โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการหรือ International Institute for Management Development (IMD) เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ ซึ่งในปี 2552 IMD จัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 57 ประเทศ พบว่า โดยภาพรวมความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของประเทศไทยได้อันดับ 26 ดีขึ้น 1 อันดับ ดีกว่าประเทศเข้าร่วมจัดอันดับใหม่คือ คาซัคสถาน (อันดับ 36) 10 อันดับ แต่เป็นรองกาตาร์ (อันดับ 14) 12 อันดับ
เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย 11 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับต่ำกว่า 6 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง (อันดับ 2) สิงคโปร์ (อันดับ 3) ญี่ปุ่น (อันดับ 17) มาเลเซีย (อันดับ 18) จีน (อันดับ 20) และไต้หวัน (อันดับ 23) แต่เหนือกว่า 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี (อันดับ 27) อินเดีย (อันดับ 30) อินโดนีเซีย (อันดับ 42) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 43) ทั้งนี้ ในส่วนความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย ในปี 2552 IMD จัดอันดับอยู่ที่อันดับ 47 จากทั้งหมด 57 ประเทศ หล่นจากปี 2551 ถึง 4 อันดับ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ยังกล่าวอีกว่า ด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับมัธยมศึกษาของไทยอยู่ที่ร้อยละ 71 อยู่ในอันดับ 49 ลดลง 3 อันดับ ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงเหลือร้อยละ 5.9 ในขณะที่มีอันดับคงที่อยู่ที่ 42 สำหรับด้านคุณภาพการศึกษา ในส่วนผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษาพิจารณาจากร้อยละของประชากรวัยแรงงานอายุ 25-34 ปี มีผู้จบระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 18 อยู่ที่อันดับ 43 และผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางคณิต-วิทย์ในโครงการ PISA ของเด็กอายุ 15 ปีได้คะแนนต่ำกว่าครึ่ง อยู่อันดับ 39 รวมทั้งความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของไทยยังด้อยอยู่ในอันดับรั้งท้าย คืออันดับที่ 51

“โดยสรุปแล้วสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากลยังอยู่ในระดับไม่เป็นที่น่าพอใจและยังล้าหลังกว่าหลายประเทศ ทั้งด้านโอกาส คุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ดังนั้น จากผลการศึกษาจึงเสนอว่าควรส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาสากลเป็นภาษาที่สองตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ภาษาที่สาม อีกทั้งต้องยกระดับคุณภาพการศึกษามุ่งเน้นคุณภาพให้มากขึ้น ทั้งคุณภาพครู คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพของระบบการศึกษา” เลขาธิการ สกศ. กล่าว

สวทช. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงออกจินตนาการอิสระสร้างผลงานการ์ตูนไซไฟ


สวทช. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงออกจินตนาการอิสระสร้างผลงานการ์ตูนไซไฟในโครงการ “การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากลครั้งที่ 2” มุ่งกระตุ้นให้มีการผลิตการ์ตูนไซไฟอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการ์ตูนไทย

ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ประธานโครงการประกวด “การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” และผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันการ์ตูน-มูลนิธิเด็ก สมาคมการ์ตูนไทย จัดโครงการประกวด “การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากลครั้งที่ 2” มุ่งกระตุ้นจินตนาการของเยาวชนให้แสดงออกถึงแนวคิดที่เป็นอิสระในการสร้างสรรค์การ์ตูนไซไฟ หรือการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีระบบความคิดที่เป็นหลักการของเหตุและผลมากกว่าความเชื่อ รวมทั้งกระตุ้นให้มีการผลิตการ์ตูนไซไฟอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้การ์ตูนไซไฟกำลังเป็นที่นิยม เช่น ในสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างรายได้สูงถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับในปีนี้ได้กำหนดกรอบให้เยาวชนที่สนใจทั้งระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในหัวข้อ "ประเทศไทย พ.ศ.2600" หรืออีก 50 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างด้วยการอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์

ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ในสื่อทุกรูปแบบได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ www.nstda.or.th/scificomic หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-564-7000 ต่อ 1177 1179 หลังจากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ทีม เพื่อเข้ารับการอบรมในค่ายพัฒนาทักษาการเขียนการ์ตูน การศึกษาดูงานในระดับนานาชาติ และตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนเพื่อวางจำหน่ายต่อไป พร้อมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 160,000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น: