วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนายุทธศาสตร์การเสริมสร้างจรรยาบรรณของวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 81 กำหนดให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาดังกล่าวนั้น ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 8 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียนเป็นอย่างมาก เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษา นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนปลูกฝัง และขัดเกลาเยาวชนให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุขในชีวิตตามสภาพสังคมที่ผู้เรียนเกี่ยวข้อง จากความจำเป็นดังกล่าวจึงมีคำถามว่าจะได้มาซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาที่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีความเป็นมืออาชีพที่จะหล่อหลอมเยาวชนของชาติให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพได้อย่างไร พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ประกอบด้วย 4 หมวด 90 มาตรา

โดยเฉพาะในมาตรา 49 ได้กำหนดให้มีข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพอันประกอบด้ว (1) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ(Standards of Professional Knowledge and Experience) (2) มาตรฐานการปฏิบัติงาน( Standards of Performance) (3) มาตรฐานการปฏิบัติตน (Standards of Conduct)โดยเฉพาะมาตรฐานการปฏิบัติตนนั้นได้กำหนดเป็นข้อบังคับว่า ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพในลักษณะดังต่อไปนี้คือ มีจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และ จรรยาบรรณต่อสังคม โดยมีคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

แต่จากข้อมูลของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (2550) พบว่า สถิติการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพมีสถิติที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจรรยาบรรณต่อผู้รับบริการและจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตนเองอีกทั้งจากข้อทักท้วงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปรากฏทางสื่อมวลชนที่กล่าวถึงวิทยฐานะและความก้าวหน้าของข้าราชการครู รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาด้วย ว่าปัจจุบันมีความก้าวหน้าในวิชาชีพมากกว่าข้าราชการในสายงานอื่น ๆ แต่กลับพบว่า ผลการปฏิบัติหน้าที่นั้นยังไม่ได้ดีขึ้น คือนักเรียนยังมีปัญหาในเรื่องพฤติกรรม ในเรื่องการเรียนรู้ และในเรื่องทักษะชีวิตที่ต่ำลงอันเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันว่า เมื่อข้าราชการครูมีความก้าวหน้ามากขึ้นแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนต่ำลงอีกประการหนึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษายังละเมิดสิทธิของผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่ถูกลงโทษจากการกระทำของตนเอง จึงทำให้เกิดข้อคำถามว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพไม่สามารถกำกับดูแล ผู้ประกอบวิชาชีพได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากข้อจำกัดทั้งในส่วนบุคลากรและงบประมาณ จึงทำให้สถิติการละเลยความประพฤติที่พึงประสงค์กับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(Office of Basic Education Commission) หรือหน่วยงานอื่น ๆ จะเข้ามากำกับดูแลการประกอบวิชาชีพของข้าราชการครูก็ไม่สามารถที่จะทำให้บุคลากรดังกล่าวเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพที่ผู้ปกครองนักเรียนจะไว้วางใจและแก้ไขสภาพปัญหาเยาวชนของชาติได้ โดยเฉพาะในอนาคตที่อาจเป็นปัญหาหนักขึ้น เนื่องจากเป็นที่คาดหมายได้ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 จะไม่บรรลุเป้าหมาย หากผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำกฎหมายสู่การปฏิบัติไม่ปฏิรูปตัวเองหรือไม่ใส่ใจที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมทั้งการไม่เข้มงวดกวดขันให้ประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ผู้บริหารสถานศึกษา ที่องค์กรวิชาชีพกำหนดในข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ เนื่องจากได้รับการยั่วยุจากความเจริญด้านวัตถุที่เข้ามาแทนที่ความเจริญทางด้านจิตใจ อีกทั้งระบบราชการไทยในปัจจุบันยังไม่ได้รับใช้สาธารณชนและสังคม แต่เป็นระบบที่รับใช้ตัวเองและผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่า (อรพินท์ สพโชคชัย, 2548) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีตสังคมได้มองว่า ผู้บริหารสถานศึกษา มีปัญหาด้านจริยธรรม คือ ขาดความรับผิดชอบ ติดอบายมุข อวดอ้างความรู้ ชอบดื่มสุรา ขาดความเมตตา เห็นแก่ตัว ขาดความสามัคคี และมีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นบ่อย (โพธิสวัสดิ์ แสงสว่าง, 2534 : บทคัดย่อ) จากการศึกษาจากเอกสารพบว่า กรณีที่ผู้บริหารสถานศึกษาทำผิดมากที่สุด ได้แก่ ทุจริตการประพฤติผิดระเบียบ กระทำผิดทางเพศ กรณีชู้สาว อนาจาร และคอร์รัปชั่นในพัสดุก่อสร้าง (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 2550 : 4) สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในจรรยาบรรณของวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาทั้งสิ้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรมองแค่การปฏิรูปด้วยการแก้ปัญหาการปฏิรูปการศึกษาแต่ต้องส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาด้านสวัสดิการ เงินเดือนและการให้เกียรติทางสังคมไปพร้อมกัน

Greenfield (1991) กล่าวว่า ผู้บริหารสถานศึกษาไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านคุณธรรมของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักเรียนและต่อวิชาชีพครู โดยระบุว่า สังคมมีความคาดหวังด้านจริยธรรมจากครูใหญ่ หรือผู้บริหารสถานศึกษา ดังนี้
1. สถานศึกษาต้องเป็นสถาบันแห่งศีลธรรม (moral institute) ที่ช่วยกำหนดปทัสสถานของสังคม (social norm)
2. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นผู้มีศีลธรรมและเป็นตัวแทนด้านศีลธรรม (moral agent) การตัดสินใจเรื่องใด ๆ ก็ตามต้องอยู่บนเหตุผลของค่านิยมทางศีลธรรม (moral value) เป็นหลักมากกว่าหลักการอื่น ๆ
3. การบริหารและการจัดการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องทุ่มเททรัพยากรทุก
อย่างเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดี ทำให้นักเรียนมีความเจริญงอกงามได้อย่างสมดุล พัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้านให้มีคุณภาพ และได้ฝึกปฏิบัติให้เป็นคนดีมีคุณธรรมและมีความสุข (ดี เก่ง และมีความสุข) เนื่องจากกระบวนการบริหารงานบุคคล เป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะคนมีความรู้สึก นึกคิด มีจิตใจและมีอารมณ์ ดังนั้น การที่จะให้บุคลากรในสถานศึกษาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติด้วยความเต็มใจและพอใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีระเบียบวินัยในตนเองไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติดหรือประพฤติผิดทางชู้สาว แต่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและซื่อสัตย์สุจริต ไม่เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับบริการในงานตามบทบาทหน้าที่

งานวิจัยใดที่นำเสนอการพัฒนาเสริมสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพดังกล่าวโดยตรง งานวิจัยและงานเอกสารที่เกี่ยวข้อง มีเฉพาะเรื่องการศึกษาพฤติกรรมด้านคุณธรรมของผู้บริหารโรงเรียน(เกวียน พันธ์อนุ,2542) ความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของครู กับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครู(พินิจนารถ ลำดวน,2552) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย(สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา,2550) เป็นต้น

ด้วยเหตุผลจากสภาพปัญหาทางด้านจรรยาบรรณที่ปรากฏ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีผลกระทบต่อวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา และความคาดหวังเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน ความคาดหวังของสังคม มาตรฐานการศึกษาชาติ หลักสูตรและงบประมาณการสนับสนุน รวมทั้งการบริหารการจัดการและการขาดงานวิจัยที่จะนำเสนอเป็นแนวทางในการเสริมสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะทำการวิจัยเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การเสริมสร้างจรรยาบรรณของวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของชาติมีผลการปฏิบัติงานได้มาตรฐาน บังเกิดเกิดผลดีต่อผู้รับบริการและเป็นที่ยอมรับจากสังคม

แหล่งที่มา ฐานข้อมูลวิจัย สอศ.

ไม่มีความคิดเห็น: