วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ร่างมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารมัธยมศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา ในการกำหนดโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนมีคณะกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตามมาตรา ๖ เพื่อดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยเฉพาะ สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาก็ยังคงสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่าน และสภาการศึกษาต้องเป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาได้ เร็วๆนี้

รมว.ศธ. ยังได้กล่าวถึง การมุ่งเน้นให้โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา เดินหน้าสู่คุณภาพการศึกษาที่เราต้องการ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา ดังนี้

๑. การเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาในช่วงเปลี่ยนผ่าน อะไรที่กระทบต่อสิทธิต้องชะลอไว้ก่อน เช่น การบริหารจัดการ แต่อะไรที่จะเป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปได้

๒. องค์ประกอบของคณะกรรมการทำงาน อ.ก.ค.ศ. วิสามัญ ซึ่งมีเพียงชุดเดียว จึงต้องมีองค์ประกอบที่ครอบคลุม และได้มีการพิจารณาอนุมัติองค์ประกอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีคณะกรรมการทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียมาเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ, ตัวแทนครูใน อ.ก.ค.ศ. ๒ คน, ตัวแทนในสายผู้บริหารมัธยม ๒ คน, ครูสายมัธยม ๒ คน

๓. โรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถมที่เปิดสอนทั้งสองระดับ ได้ให้คณะทำงานไปศึกษาว่า สิ่งที่ต้องการให้โรงเรียนในเขตพื้นที่มัธยมมีความชัดเจนมากขึ้น ต้องเลือกสอนในส่วนใด ระหว่างระดับประถมศึกษา กับระดับมัธยมศึกษา ส่วนการบริหารจัดการเป็นเรื่องที่ต้องมาร่วมระดมความคิดกันต่อไป

รมว.ศธ. ได้กล่าวถึง การปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ คือ ต้องการให้โรงเรียนมีอิสระ โดยให้โรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นศูนย์กลางในการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษามากที่สุด ท้ายที่สุดคือการทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีความคล่องตัวมากขึ้น ส่วนกระบวนการพิจารณาจัดทำมาตรฐานตำแหน่งของครูโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ควรจะได้รับโอกาสพิจารณามี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมที่เคยทำหน้าที่นี้มีสิทธิ์ในการเสนอตัวเอง กลุ่มที่ ๒ ผู้ที่เคยทำงานรักษาการ ประสานงานเขตพื้นที่มัธยมเดิม เพราะมีความเข้าใจถึงการทำงานด้านมัธยมศึกษา สำหรับกลุ่มที่ ๓ คือ กลุ่มที่มีบัญชีอยู่เดิม แต่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว สำหรับกระบวนการคัดเลือกนั้นจะมีการพิจารณาอย่างชัดเจนในลำดับต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และให้เดินหน้าพัฒนาสู่การปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ต่อไป.

ปรับแก้กรอบTQFครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2553 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้พิจารณาร่างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาหรือ TQF คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ โดยกกอ.ขอให้คณะทำงานจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์กลับไปปรับแก้อีกครั้ง เพื่อให้การผลิตครูในอนาคตมีความสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ที่เน้นว่าการกำหนดหลักสูตรต่าง ๆ ต้องมีความสอดคล้องกันทุกระดับ

ดังนั้นต่อไปในส่วนของคณะครุศาสตร์ก็จะต้องผลิตครูให้ตรงตามหลักสูตรมากขึ้น โดยเฉพาะในครูระดับมัธยมศึกษาที่จะออกมาสอนวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาก็จะต้องสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่สอนโดยอาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ เหมือนบางมหาวิทยาลัยที่ทำอยู่ในขณะนี้ ส่วนอาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์สอนวิชาทั่วไป ทั้งนี้ ต่อไปสถาบันที่เปิดหลักสูตรการผลิตครูจะต้องดำเนินการตามกรอบTQF และ ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการข้ามคณะได้เพราะการเปิดสอนในสาขาเฉพาะ เช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์มาสอนได้ไม่น้อยกว่า 80 หน่อยกิต แต่ถ้าไม่มีก็จะผลิตได้เฉพาะครูประถมเท่านั้นเพื่อให้ได้ครูที่จบออกมามีคุณภาพ

“กรอบTQF ครุศาสตร์อันนี้เริ่มใช้กับโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่หรือครู 5 ปี ก่อนเพราะต้องเร่งผลิตครูเพื่อทดแทนอัตราเกษียณจำนวน 30,000 อัตราให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยถือเป็นการส่ง สัญญาณนำร่องการปฏิรูประบบการผลิตครูครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งต่อไปจะต้องปฏิรูปกระบวนการผลิตครูทั้งระบบเพื่อให้มีความสอดคล้องกับ การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 อย่างไรก็ตามคาดว่าคณะทำงานจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะสามารถเสนอกรอบTQF ที่นำไปปรับแก้ได้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า”ดร.สุเมธกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: