วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ย้ายผู้บริหารระดับสูง ศธ. ๖ ราย

๑. นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๒. นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ย้ายไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓. นายอนันต์ ระงับทุกข์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
๔. นายปราโมทย์ แก้วสุข ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สป. ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
๕. นายพันธุ์ศักดิ์ โรจนากาศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
๖. นางศิริพร กิจเกื้อกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ย้ายไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

สกสค.เดินหน้าปล่อยกู้ช.พ.ค.

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เปิดให้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ยื่นกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ในโครงการใหม่ วงเงินกู้สูงสุด 1,200,000 บาท นั้น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนคงไม่ต้องสั่งให้ สกสค.ชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะเป็นเพียงการเตรียมการเท่านั้น ส่วนกรณี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศธ. แสดงความห่วงใยว่าการที่เปิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเอกชน สมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ค. และกู้เงินได้จะทำให้ปัญหาหนี้สินขยายตัวนั้น อย่านำมาปนกัน เรื่องนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการกู้ยืมเงินมาลงทุนต่าง ๆ

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้นายชินวรณ์ จะระบุว่าการปล่อยกู้ ช.พ.ค.โครงการใหม่ จะต้องรอประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบก่อน โดย ศธ.จะมีการหารือกับกระทรวงการคลังนั้น จากการโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของ สกสค.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2288-4500 ได้รับการยืนยันว่า สมาชิก ช.พ.ค.สามารถมารับเอกสารยื่นกู้ได้ตามปกติ ซึ่งผู้ที่ยื่นกู้จะทราบผลการอนุมัติวงเงินกู้ภายใน 3 เดือน.

รมว.ศธ.มอบนโยบายพัฒนาครูทั้งระบบ ที่ จ.ตรัง
รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองยุคใหม่ที่มีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เพราะครูเป็นกุญแจสำคัญในการมุ่งสู่ความสำเร็จดังกล่าว ศธ.จะพัฒนาครูยุคใหม่ ให้เป็นครูที่มีความพร้อมในการจัดกระบวนการเรียนการสอนได้ตามเป้าหมายที่ ศธ.ต้องการ การผลิตครูพันธุ์ใหม่เพื่อให้ได้ครูที่เก่ง และให้คนเก่งมาเรียนครู พัฒนาหลักสูตรของครูเพื่อให้มีกระบวนการเรียนการสอนในโลกยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีจิตนาการและมีความฝันที่จะได้ร่วมพัฒนาประเทศ และร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ศธ.นโยบายส่งเสริมให้ครูมีโอกาสเรียนสูงขึ้น โดยดูจากผลทดสอบสมรรถนะที่ผ่านมา ศธ.มีครูที่เป็น Master Teacher จึงจะส่งเสริมให้ครูเหล่านี้จำนวน ๑๐,๐๐๐ คน ได้เรียนต่อในระดับปริญญาโท

การสร้างขวัญกำลังใจครู ศธ.มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินครู และได้หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการประกาศการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เพื่อแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนทั้งระบบของรัฐบาล ในส่วนของครูจะมีทั้งครูที่มีฐานะ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความภาคภูมิใจในความเป็นครู และมีครูส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อยู่ในชนบทห่างไกล และประกอบอาชีพที่มีรายได้น้อย

ศธ.จึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการ ชีวิตความเป็นอยู่ของครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูเองก็มีความตั้งใจจะพัฒนาชีวิตครูทั้งระบบร่วมกัน เพราะปัญหาหนี้สินครูจะต้องแก้ที่ครู โดย ศธ.ได้แยกประเภทออกเป็น ๓ ส่วน คือ ๑.หนี้สินครูที่อยู่ในกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของ ก.ค.ศ. ซึ่งจะดูแลเรื่องปัญหาของครูที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ เช่น ประสบอุบัติเหตุ มีปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหา NPL ๒.หนี้สินที่เครือข่ายพัฒนาชีวิตครู หรือ สกสค.ใช้เงิน ชพค.ค้ำประกัน เพื่อให้ครูกู้เงินจากธนาคารรเพิ่มมากขึ้น โดย ศธ.จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงและจัดการหนี้สินให้เป็นระบบมากขึ้น และ ๓.หนี้สินที่กู้ยืมผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งจะมีทั้งเงินออมและมีหนี้สิน กระบวนการของสหกรณ์ออมทรัพย์ มีการช่วยเหลือกัน แบ่งผลกำไรกัน เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น หลักการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ศธ.จะร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อนำหนี้ทั้ง ๓ ส่วน มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชีวิตครูอย่างเป็นระบบต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ ศธ.ได้เสนอ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และได้เสนอร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการกำหนดระดับตำแหน่งการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของบุคลากรทางการศึกษาอื่น เพื่อให้ครูได้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งครู คศ.๑ ในอัตราขั้นต่ำ และครูที่มีอัตราเงินเดือนเต็มขั้นมานานจะมีโอกาสเลื่อนเงินเดือนไปสู่แท่งใหม่ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของครูโดยตรง.

ไม่มีความคิดเห็น: