วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาเรื่องสำคัญ ดังนี้

� กระทรวงศึกษาธิการได้ระดมทุนเพื่อสมทบกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลได้จัดกิจกรรม เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ชื่อ งาน “มหกรรมเทิดไท้ราชินี สามัคคีทั่วแผ่นดิน” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ระดมทุนจากองค์กรหลักต่างๆ และมียอดเงินทั้งหมด ๔,๖๘๘,๐๐ บาท ร่วมสมทบกองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นพลังในการป้องกันยาเสพติด และที่สำคัญคือเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาการก็เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน “ล้านดวงใจถวายแม่ของแผ่นดิน” ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และร่วมจัดกิจกรรมกับรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง ที่ลานพระราชวังดุสิต

� ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดประชุมสัมมนาพัฒนาเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ขององค์กรหลัก ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมอะเดรียติก กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักประชาสัมพันธ์ และพัฒนาเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของ ๕ องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นก็ถือโอกาสรับทราบแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และมีประเด็นที่มุ่งเน้นที่ต้องการให้นักประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมดได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรหลักในการชูธงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสังคมทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ โดยเฉพาะเรื่อง ๔ ใหม่ ที่ได้ประกาศไว้ในงานสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ คือ พลเมืองยุคใหม่ ครูยุคใหม่ สถานศึกษายุคใหม่ แหล่งเรียนรู้ใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการแบบใหม่ การประชุมสัมมนาพัฒนาเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ครั้งนี้ ก็จะได้เป็นการรวมพลังที่จะสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ นี้ด้วย

� การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะให้มีการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งได้กำหนดไว้ ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบที่ ๑ การให้ทุนการศึกษาระหว่างเรียน และประกันการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยจะบรรจุในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ส่วนรูปแบบที่ ๒ ไม่มีทุนการศึกษาระหว่างเรียน แต่จะประกันการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยจะบรรจุในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่จะต้องเตรียมอัตราบรรจุนักศึกษาที่จบตามเกณฑ์ของโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่และโครงการผลิตครูภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอัตราเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูที่ได้รับคืนให้กับกระทรวงศึกษาธิการในอัตรา ๑๐๐ % โดยยกเว้นการพิจารณาให้ความเห็นจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งจะนำสัดส่วนที่ได้คืนจาก ๑๐๐ % นี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการบรรจุนักศึกษาตามโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ที่จะทำให้โครงการนี้สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งอยากมาเรียนครู เป็นหลักประกันที่ชัดเจนว่ามีงานทำอย่างแน่นอน นอกจากนี้จะได้เสนอความเห็นดังกล่าวไปยังฝ่ายเลขานุการของสภาการศึกษาเพื่อนำเสนอคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ พิจารณาในการวางกรอบแนวทางที่ชัดเจนของการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เช่น ๔+๑ หรือการศึกษาระดับปริญญาตรี ๔ ปี ที่จบสาขาวิชาเอกโดยตรง แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาโทอีก ๒ ปี (๔+๒)

� พิธีปล่อยคาราวานเยี่ยมบ้านนักเรียน ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน เป็นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน และเป็นโครงการบูรณาการตามแผนปรองดอง เพื่อที่จะช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งขบวนที่ ๑ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเยี่ยมบ้านนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เขต ๓ ขบวนที่ ๒ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่จังหวัดนนทบุรี เขต ๑ ขบวนที่ ๓ นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะไปที่จังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ นอกจากนั้นขบวนที่ ๔ ถึงขบวนที่ ๑๐ ก็จะนำโดยข้าราชการระดับสูงทั้ง ๕ องค์กรหลัก ที่จะออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียนตามกำหนดการที่ได้วางแผนไว้ ซึ่ง รมว.ศธ. กล่าวว่าโครงการช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลนี้ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ประชาชน ตลอดจนครู และผู้บริหารการศึกษาเพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงการรับทราบปัญหาทางการศึกษา เพื่อนำมาปรับกระบวนการเรียนการสอนต่อไป.

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาได้จัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) และหลักสูตร ๔ ปี ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งในสาขาวิชาเดียวกัน อาจมีมาตรฐานความรู้ความสามารถแตกต่างกัน เนื่องจากมีโครงสร้างหลักสูตรและแผนดำเนินการหลักสูตรต่างกัน ทำให้องค์กรวิชาชีพหลายสาขาวิชาไม่ให้การรับรอง เช่น สาขาพยาบาล สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ และผู้ที่เรียนปริญญาต่อเนื่องจะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญา ซึ่งจบไม่ตรงกับสาขาที่จะเรียนระดับปริญญาตรี และบางสาขาวิชาก็ไม่จบวิชาเอกที่กำหนด เช่น คนที่เรียนในสาขาวิชาพยาบาล ต้องจบแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนตามเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบและเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง แต่เนื่องจากมีการประกาศของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เรื่องการจัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ของสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ให้สถาบันอุดมศึกษายุติการรับนักศึกษาเข้าศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) แต่ให้สามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาตรี ๔ ปี ได้ โดยการเทียบโอนผลการเรียน และในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๓
ที่ผ่านมาได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการจัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) อนุโลมให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต และหลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิตเท่านั้น

จึงได้มอบหมายให้องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สช. และ สอศ. ได้ประชาสัมพันธ์ให้สถาบันการศึกษาต่างๆ และนักเรียน นักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: