วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สพฐ.เร่งจัดโรงเรียนลงเขตพื้นที่การศึกษาประถม-มัธยม

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยผลประชุมกพฐ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีการเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบกรณีการประกาศเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งที่ประชุมสภาการศึกษาได้กำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ 42เขตและเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ 183 เขต และขั้นตอนต่อไปเมื่อมีการประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่ฯดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะต้องดำเนินการจัดตั้งเขตพื้นที่โดยกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ลงในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯและประถมตามลำดับต่อไป ซึ่งการจะให้โรงเรียนใดสังกัดในเขตพื้นที่ไหนนั้นจะยึดสังกัดเดิมของโรงเรียน โดยกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.)เดิมจะให้สังกัดเขตพื้นที่ประถมฯ และโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมให้สังกัดเขตพื้นที่มัธยมฯ

”โรงเรียนที่มีความก้ำกึ่งเพราะเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับประถมและมัธยม เช่น โรงเรียนขยายโอกาสนั้น สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์การให้มาสังกัดเขตพื้นที่มัธยมฯ เช่น ระยะทางห่างจากโรงเรียนมัธยมอื่นไม่น้อยกว่า 8 กิโลเมตร มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 25 ไร่ เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้สพฐ.ได้ให้โรงเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการไปสังกัดเขตพื้นที่มัธยมฯแจ้งความจำนงมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแล้วและพบว่ามีจำนวน 13 แห่งที่แจ้งเข้ามา ซึ่งที่ประชุมกพฐ.ได้พิจารณาอนุมัติให้ไปสังกัดเขตพื้นที่มัธยมฯ 1 แห่งคือโรงเรียนวัดคลองสน อ.เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งเปิดสอนระดับประถมถึงม.ปลาย ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้รับการอนุมัตินั้นมี 6 แห่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานที่กำหนด อีก 6 แห่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ไม่ได้รับการอนุมัตินั้นนำกลับไปทบทวนและนำเสนอให้ที่ประชุมกพฐ.พิจารณาอีกได้” ดร.ชินภัทร กล่าว

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมกพฐ.ยังเห็นชอบให้โรงเรียนที่สังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมมาก่อนแต่จำเป็นต้องเปิดสอนระดับประถมให้มาสังกัดเขตพื้นที่มัธยมฯได้แก่ โรงเรียนพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงเรียนภปร.ราชวิทยาลัย จ.นครปฐม โรงเรียนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี และโรงเรียนวรราชทินัดดามาตุวิทยา จ.ปทุมธานี ทั้งนี้กรณีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสนั้นเมื่อมาสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯจะต้องส่งเสริมให้มีความพร้อมมากขึ้นในการสอนระดับมัธยม การเสริมทางด้านวิชาการ โดยเขตพื้นที่มัธยมฯต้องเข้ามาดูแล ส่วนโรงเรียนที่ยังสังกัดเขตพื้นที่ประถมฯนั้นก็คงไม่กระทบต่อคุณภาพอะไร อย่างไรก็ตามที่ประชุมกพฐ.ได้แสดงความห่วงใยว่าเมื่อมีการแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯและมัธยมฯแล้วจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาหรือไม่ โดยตนได้ชี้แจงว่าการแบ่งเขตพื้นที่เป็นการแบ่งในเชิงการบริหารงานเพื่อให้การงบประมาณ การบริหารงานบุคคล มีความชัดเจนและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคุณภาพผู้เรียน ซึ่งงานวิชาการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯก็ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนประถมศึกษาเหมือนเดิมรวมทั้งการทำหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯด้วย

นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)กาญจนบุรี เขต 4 ในฐานะนายกสมาคมผอ.สพท. กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.กำลังเกิดความแตกแยกระหว่างประถมและมัธยม เนื่องจากดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีคำสั่ง สพฐ. ที่ 1153/2553 ให้นายสุรศักดิ์ ศรีสว่างรัตน์ ผอ.สพท.กรุงเทพมหานคร เขต 3 ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา และทราบว่าเพื่อเปิดทางให้ นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ ผอ.โรงเรียนโยธินบูรณะ มารักษาการผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

”เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นผอ.เขตพื้นที่เดิมและมาจากผอ.สามัญศึกษาจังหวัด ควรจะให้รักษาการผอ.เขตพื้นที่มัธยมฯต่อไปได้ ในฐานะนายกสมาคมฯผมยอมไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เสียศักดิ์ศรี ทั้งนี้จะเดินทางเข้าพบรมว.ศึกษาธิการเพื่อขอความเป็นธรรมให้ทบทวนคำสั่ง รวมทั้งจะขอให้เลขาธิการกพฐ.ชี้แจงเหตุผลด้วย"นายธวัชชัย กล่าว

นายสุรศักดิ์ ศรีสว่างรัตน์ ผอ.สพท.กรุงเทพมหานคร เขต 3 กล่าวว่า เพิ่งทราบเรื่องรู้สึกงงและตกใจมาก เพราะกรุงเทพฯก็มี 3 เขตอยู่แล้ว ก็น่าจะให้คนเก่าทั้ง 3 คนรักษาการในตำแหน่งต่อไปได้ ซึ่งไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรที่ย้ายตนไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ อยากให้ผู้ใหญ่ทบทวนคำสั่งและดูแลขวัญและกำลังใจข้าราชการด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ.ได้โทรศัพท์ไปแจ้งต่อนายสุรศักดิ์ว่าจะให้มารับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญใน สพฐ.ได้หรือไม่ เพื่อจะให้นายวิทธยามารักษาการผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยม โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเดิมรักษาการต่อไป ซึ่งก็มีเพียงนายสุรศักดิ์เพียงคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา(สกศ.) กล่าวว่า น่าเป็นห่วงว่าการจัดตั้งเขตพื้นที่มัธยมจะติดกับดักงานเชิงธุรการทั้งเรื่องโครงสร้าง การบริหารจัดการบุคลากร ฯลฯ เหมือนที่ผ่านมา โดยไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นเป้าหมายในการจัดตั้งเขตพื้นที่มัธยมศึกษา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ สกศ.ที่ผ่านมา มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก จึงฝากสพฐ.ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: