วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความก้าวหน้าปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

รมว.ศธ.กล่าวว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (กขป.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน กนป. กรอบแนวทางยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รวมทั้งแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

- กนป. ได้กำหนดค่าเป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองจนสิ้นสุด พ.ศ. ๒๕๖๑ จำนวน ๔ เป้าหมาย ๒๐ ตัวบ่งชี้ ดังนี้

เป้าหมายที่ ๑ คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐
๒) ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (ผลทดสอบ PISA)
๓) ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี
๔) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี
๕) สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาเป็น ๖๐ : ๔๐
๖) ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากลและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
๗) จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕-๕๙ ปี) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี

เป้าหมายที่ ๒ คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
๒) อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕-๖๐ ปี) เป็นร้อยละ ๑๐๐
๓) ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐
๔) คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที
๕) สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๑๐ ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ๕๐

เป้าหมายที่ ๓ คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความเป็นพลเมือง
๒) จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๓) จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ตั้งครรภ์ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๔) จำนวนเด็กเข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๕) สัดส่วนคนไทยที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ต่อปี

เป้าหมายที่ ๔ คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์
๒) ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน ๑ ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น
๓) กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

- กนป.เห็นชอบหลักการในการตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง สสค. เป็นหน่วยงานภายในกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

- กขป.กำหนดกรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์ และกลไกขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๖๑) และหน่วยงานรับผิดชอบหลัก/หน่วยงานร่วม รวมทั้งตัวอย่างกลไก/โครงการ/กิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)

- กนป.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กนป. รวม ๖ คณะ ได้แก่

๑) คณะอนุกรรมการ กนป.ด้านพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน
๒) คณะอนุกรรมการ กนป.ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นประธาน
๓) คณะอนุกรรมการ กนป.ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งมีศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธาน
๔) คณะอนุกรรมการ กนป.ด้านจัดทำแผนงบประมาณขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยคณะที่ ๑-๓ มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประสานและให้คำแนะนำ คำปรึกษา การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รวมทั้งรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ในประเด็นที่รับผิดชอบ คณะที่ ๔ มีหน้าที่จัดทำแผนงบประมาณเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) รวมทั้งเสนอแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อเสนอของบประมาณ
๕) คณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนการผลิต การพัฒนาและการใช้ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในเชิงปริมาณและคุณภาพ สร้างเครือข่าย ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ศึกษาวิจัย พัฒนาระบบการผลิตและการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ รวมทั้งติดตาม ประเมินผล เพื่อสร้างความพร้อม และความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา
๖) คณะอนุกรรมการใน กนป.ด้านพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี ซึ่งมีเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี และผลักดัน ขับเคลื่อน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ รวมทั้งติดตาม ประเมินผล

- กขป.เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือ รวมพลังกันจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยให้จัดทำเป็นแผนงานแบบบูรณาการ มีผลให้มีการประชุมระดมความคิดและการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ๒ ครั้ง ขณะนี้สรุปได้ว่า เพื่อรองรับ ๔ ค่าเป้าหมาย และกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ๔ ใหม่ ควรจัดทำเป็นแผนงานบูรณาการ จำนวน ๔๔ แผนงานต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: