วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทศวรรษแห่งการรวมพลังสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู

๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมปึกเตียนวิลล่า จ.เพชรบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน ๔๐๐ คน
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการทำงานในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา นอกจากการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองแล้ว ยังได้เน้นนโยบายสำคัญที่จะให้เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญกำลังใจ มีศักดิ์ศรีในวิชาชีพครู ที่ผ่านมาตนได้รับทราบปัญหาเพื่อนครูมากมาย เช่น การไปรวมตัวบ่นปัญหากันเองทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ หรือการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่างๆ จึงขอยืนยันว่าอะไรที่ทำได้เพื่อครูก็จะบอกว่าทำได้ แต่ถ้าเรื่องอะไรที่ไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องบอกตรงๆ ไปว่าทำไม่ได้ หลักการที่สำคัญที่จะสร้างศักดิ์ศรีให้ข้าราชการครูคือ ครูควรมีเงินเดือนสูงขึ้นกว่าอาชีพอื่นๆ และครูบรรจุใหม่ควรมีรายได้มากขึ้น ที่จะช่วยจูงใจคนเก่งและคนดีเข้าเป็นเป็นครูมากขึ้น

ปัญหาที่ผ่านมาอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากที่จะอธิบายให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นครู รวมทั้งการเสนอขออนุมัติร่างกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้อง เพราะไม่เข้าใจความหมายว่าทำไมต้องต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูง ซึ่งเรื่องนี้ได้พยายามผลักดันมา ๕ รัฐมนตรีแล้ว

แต่ในที่สุด มติ ครม.เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ได้เห็นชอบกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ พ.ศ. .... โดยสาระสำคัญคือ กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำของอันดับในกรณีต่างๆ มีการกำหนดอัตราเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม มีการกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าเงินเดือนขั้นสูงของอันดับเงิน เดือนสำหรับตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดให้การได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้นำกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งจะทำให้เพื่อนครูได้รับเงินเดือนทะลุแท่งออกไป เมื่อกฎหมายข้อนี้ผ่านก็เป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนสูงขึ้นไปด้วยเมื่อครูมีขวัญกำลังใจดีขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้เห็นด้วย และยังได้ให้ ศธ.ไปเตรียมเรื่องโครงสร้างเงินเดือน ค่าตอบแทนต่างๆ โดยเร็ว จึงขอฝากให้เลขาธิการ ก.ค.ศ.คนใหม่ รีบไปดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า จากการที่มีหลายคนมายื่นข้อเสนอร้องเรียนถึงเรื่องวิทยฐานะว่า หาก พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินวิทยฐานะผ่าน ควรจะทำให้ครูทุกคนได้รับเงินวิทยฐานะทุกคน แต่ยืนยันว่าการได้รับเงินเดือนเป็นระบบ R.C. (หมายเหตุ - เป็นการจำแนกตำแหน่งตามชั้นหรือยศ คือ Rank Classification) ส่วนวิทยฐานะเป็นระบบ Academic Rank Classification หรือ A.R.C. ซึ่งเป็นเรื่องของวิชาการ ที่จะให้ทุกคนเหมือนกันไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การกำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เหมาะสมกับวิชาชีพนั้นๆ

หลังจากที่ได้ผลักดันการสร้างขวัญกำลังใจให้เพื่อนครูแล้ว ต่อไปจะมาดูถึงบุคลากรอื่นด้วย นอกจากนั้นก็ต้องดูประสิทธิภาพของระบบการประเมินวิทยฐานะ เช่น การจัดหางบประมาณให้ผู้ที่อ่านการประเมินผลงานมากขึ้น และสิ่งที่น่านำมาใช้คือ ต่อไปใครจะทำผลงานเชี่ยวชาญ อาจจะต้องเสนอมาก่อนเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อให้คณะกรรมการติดตามไปดูการทำงานช่วง ๓ ปีว่ามีผลต่อนักเรียนมากขึ้นเพียงใด และเมื่อได้เชี่ยวชาญแล้ว ก็ต้องรักษาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในระดับเชี่ยวชาญได้อย่างต่อเนื่อง หากทำได้อย่างนี้แล้ว เราสามารถจะนำไปอ้างกับองค์กรอื่นได้ว่าทำไมครูควรได้รับค่าตอบแทนผลประโยชน์สูงกว่าอาชีพอื่นๆ

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงการผลิต ป.บัณฑิต ซึ่งเป็นการสอนในระยะเวลา ๑ ปีให้ผู้ที่ไม่ได้จบสายครูและไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สามารถเข้าไปเป็นครูได้ แต่จากนี้ไปจะไม่มีการขยาย ป.บัณฑิตเพิ่มอีกเป็นอันขาด บางแห่งไปเปิดตามปั๊มน้ำมันหรือในโรงแรมด้วยซ้ำไป ต่อไปนี้จะให้เฉพาะผู้ที่จบสายครูและมีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้นมาเป็นครูเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในขณะเดียวกันใบประกอบวิชาชีพครูก็ต้องทำอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ออกแบบมาเท่ากับวุฒิบัตรการแข่งขันกีฬาสี

ในด้านการพัฒนาชีวิตครูหรือการแก้ปัญหาหนี้สินครูนั้น ต้องมีกลไกในการเข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาชีวิตครูอย่างเป็นระบบด้วยความโปร่งใส หลักคิดคือ ดูครูที่เป็นหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่จะต้องต่อยอดให้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมสหกรณ์เพื่อให้เป็นแหล่งเงินออมของครู และสิ่งสำคัญคือเมื่อจะแก้ปัญหา ครูไม่อยากให้ใครมาสอนมาทำบัญชีครัวเรือน แต่รู้ว่าจะต้องช่วยกันให้มีอำนาจในการต่อรอง เพื่อร่วมมือกันแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับครู ซึ่งเงินกู้ ช.พ.ค.ก็ต้องยึดหลักการเดียวกันด้วย และจะทำอย่างไรไม่ให้ครูเป็นหนี้ซ้ำซ้อนกันระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนพัฒนาชีวิตครู และเงิน ช.พ.ค. หรือบัตรเครดิตอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันต้องให้ ๓ กลุ่มเข้มแข็ง จึงจะต้องทำงานแบบบูรณาการพัฒนาชีวิตครูทุกส่วน เพื่อให้คุณภาพชีวิตครูสูงขึ้น ให้ครูลดเลิกจำนวนหนี้ลงมา หรือหากจะเป็นหนี้ก็ควรเป็นหนี้เพื่อต่อยอดหรือเพื่อการลงทุนเท่านั้น ดังนั้นหากโครงการใดทำได้ด้วยความโปร่งใสและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อครู ตนยืนยันว่าจะให้ทำโครงการนั้นได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

รมว.ศธ.ได้กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีกองทุนพัฒนาชีวิตครู ขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยกันสร้างเครือข่ายทั้งกลุ่มใหญ่และเล็ก เพราะหากครูมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จะทำให้มาตรฐานชีวิตครูดีขึ้นด้วย มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้คนเก่ง คนดีเข้ามาเป็นครูมากขึ้น และหากเครือข่ายพัฒนาครูเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อความเข้มแข็งถึงองค์กรครูต่างๆ ด้วย เพราะในขณะนี้หลายประเทศให้สมาคมหรือเครือข่ายครูเข้ามามีส่วนสำคัญในการอบรมพัฒนาครูกันเอง ไม่ใช่อบรมพัฒนาแบบเดิมคือ มีแม่ไก่ ลูกไก่ กว่าจะไปถึงโรงเรียนก็กลายเป็นขี้ไก่ จึงขอให้ครูเน้นการสร้างเครือข่ายพัฒนาครูให้เข้มแข็งมากขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น: