วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๕

รมช.ศธ. กล่าวว่า องค์การยูเนสโก ได้กำหนดให้วันที่ ๕ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครูโลก (World Teacher’s Day) เพื่อแสดงถึงความสำคัญของวิชาชีพครู ประเทศไทยได้จัดการประชุมครูโลกขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ โดยกระทรวงศึกษาธิการมอบให้องค์กรในสังกัดหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๕ ขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมถือเป็นช่วงเวลามหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นบรมครูในการสร้างอาชีพให้แก่ปวงชนชาวไทย จึงได้จัดในหัวข้อ เรื่องการศึกษาเพื่อโลกอาชีพ : Education for the World of Work ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

นอกจากนี้วัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมในปีนี้ เพื่อต้องการจะให้เป็นเวทีให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้ระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน รับรู้ความก้าวหน้าทางการศึกษา และนวัตกรรมการเรียนการสอน ร่วมกันกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อโลกอาชีพในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้การศึกษาเป็นสากล สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใน ทศวรรษที่สอง ที่วางเป้าหมายในการสร้างคุณภาพครูยุคใหม่ที่มีมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอน สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการการศึกษาได้ทุกระดับ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีศักยภาพก้าวสู่โลกอาชีพในระดับสากล

การประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมและมีจำนวนผู้เข้าชมงานวันครูโลกประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดการประชุม กล่าวสุนทรพจน์ ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐ น.

สำหรับหัวข้อใหญ่ทางวิชาการของการประชุม คือ หัวข้อ Education for the World of Work (การศึกษาเพื่อโลกอาชีพ) นำเสนอโดย Mr.Gwang-Jo Kim ผู้อำนวยการยูเนสโก ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้ และเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กระทรวงศึกษาธิการ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะเผยแพร่พระราชอัจฉริยภาพด้านการศึกษาและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพระองค์ท่านให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบอย่างแพร่หลาย โดยมีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล มีการจัดขบวนแห่สี่ภาค อัญเชิญเครื่องราชสักการะ พานพุ่มเงิน พานพุ่มทอง การถวายเครื่องราชสักการะ และการกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ในค่ำวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. บริเวณโดยรอบจะมีซุ้มนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และได้จัดให้มีการร่วมถวายพระพรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย นิทรรศการระบบการจัดการอาชีวศึกษานานาชาติ และนวัตกรรมการจัดการศึกษา นิทรรศการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ นิทรรศการด้านการพัฒนาครูสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง นิทรรศการด้านการพัฒนาผู้เรียน เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา นิทรรศการกลุ่มอาชีพ เช่น แปลงสาธิตการทำนา สาธิตอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารตามกรุ๊ปเลือด อาหารดีท็อกซ์ การเปิดสอนวิชาชีพ ๑๐๘ อาชีพ ฟรี การจัดประกวดและแข่งขันทักษะวิชาชีพนานาชาติ เช่น การจัดสวนถาด เป็นต้น

การจัดทำมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ

23 ส.ค.53 นายวัชรินทร์ ศรีบุรินทร์ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 ในฐานะประธานสมาพันธ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย นำตัวแทนผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ และ ผอ.โรงเรียน ประมาณ 50 คน เข้ายื่นหนังสือเสนอข้อมูลประกอบการจัดทำมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ต่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

โดยนายวัชรินทร์ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ได้มีการประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ และเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ แยกกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีการแยกภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังนั้นทางสมาพันธ์ฯ จึงเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ จะต้องมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการมัธยมฯ โดยขอให้เปิดโอกาสให้ ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะ ไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือ ผอ.กลุ่มที่ดำรงตำแหน่ง มาไม่น้อยกว่า 2 และรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอันดับ คศ.3 หรือไม่ต่ำกว่าระดับ 8 หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่าโดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการมัธยมฯ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีสิทธิ์เข้ารับการพิจารณาเป็นลำดับแรก

นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของการแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ขอให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ ทั้ง 42 เขตในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา โดยขอให้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านมัธยม ก่อน และพิจารณาตามประสบการณ์งานบริหารตามขนาดของสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผู้ที่เหมาะสมค่อยพิจารณาผู้ที่มาจากด้านประถม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดทำมาตรฐานตำแหน่งของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ และผอ.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยมศึกษาจังหวัด โดยให้อยู่ใน คศ.4 ส่วนคุณสมบัติและวิธีการนั้น จะพิจารณาให้เกิดความชัดเจนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: