วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ ๒๐

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นแผนนโยบายในเชิงบริหาร ที่จะนำนโยบายขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนฯ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด มี สนย.สป. และ สพท.เขต ๑ รับผิดชอบร่วมกัน พร้อมทั้งให้ผู้ตรวจราชการฯ เป็นผู้ติดตามการดำเนินการตามแผนฯ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

รับทราบผลการดำเนินงานกองทุนหมุนเวียนของกระทรวงศึกษาธิการ ๕ กองทุน

ที่ประชุมได้รับทราบว่า ปัจจุบัน ศธ.มีกองทุนหมุนเวียนต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๕ กองทุน คือ ๑.กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ (สช.สป.) ๒.กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ๓.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา (สพฐ.) ๔.กองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู (ก.ค.ศ.) ๕.กองทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สกอ.) ซึ่งผลการประเมินจากกรมบัญชีกลาง พบว่าหลายกองทุนยังมีผลการประเมินไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้สนองตอบต่อเป้าหมายนโยบายของ ศธ. เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น และจะต้องสอดรับกับนโยบาย ศธ. ที่ต้องการเน้นคุณภาพทางการศึกษาด้วย

แผนความปรองดองแห่งชาติของแต่ละองค์กรหลัก

รมว.ศธ.กล่าวว่า แต่ละองค์กรหลักได้รายงานความก้าวหน้ากิจกรรมตามโครงการแผนความปรองดอง โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกศ.รวบรวมรายงานความก้าวหน้าโครงการกิจกรรมของทุกองค์กรหลัก เพื่อนำเสนอต่อ ครม.อย่างชัดเจนต่อไปด้วย

ในส่วนของ สกอ.ซึ่งได้จัดทำ "แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่" ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้สถาบันอุดมศึกษาปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อรับใช้สังคม โดยทำงานเชื่อมโยงกับชุมชนและท้องถิ่นในการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ ๖ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ เป็นอาสาสมัครเรียนรู้และสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยมอบหมายให้ ๑ สถาบันอุดมศึกษา ดูแลใน ๑ จังหวัด

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การตอบสนองความต้องการของสังคม สถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งรวมปัญญาที่มีความเป็นกลาง การมีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง ร่วมสังเคราะห์ประเด็นสาธารณะ ช่วยเหลือชุมชนในการสื่อสาร

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การทำงานร่วมกับสังคมด้วยความเสมอภาค สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นแกนหลักเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดในรูปแบบของหุ้นส่วนทางสังคมด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม โดยการใช้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมวิชาการสายรับใช้สังคม ให้สถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมกันทำงานสร้างสรรค์งานวิชาการสายรับสังคม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ชุมชนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา การพัฒนาองค์ความรู้กระบวนการกำหนดวิชาความเป็นพลเมืองแก่นิสิตนักศึกษาทุกคน เพื่อปลูกฝังจิตอาสา ความเป็นธรรม รู้จักเหตุผล มีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของเยาวชนในสังคมท้องถิ่นและชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การสร้างบรรยากาศเพื่อการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา การปรับมาตรฐานอุดมศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นต่อสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาเป็นเครื่องมือในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา โดยมุ่งเน้นผลการเรียนรู้ของบัณฑิตตามมาตรฐานการเรียนรู้ ๕ ด้าน คือ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

สำหรับโครงการ "แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่" นั้น ทาง สกอ.จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการตามกิจกรรม ที่ประชุมจึงขอให้รายงาน ครม.พิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไปด้วย

การจัดงาน "ชุมนุมเยาวชน คนรักชาติ รักประชาธิปไตย"

ศธ.โดยสำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้กำหนดจัดงานดังกล่าว โดยมีลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทุกระดับคือ สพฐ. สช. สอศ. ร่วมกันจัดงานชุมนุมครั้งใหญ่ โดยจะมีลูกเสือเนตรนารีทุกสังกัดเข้าร่วมประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งรายละเอียดการจัดงานดังกล่าวจะมีการแถลงข่าวในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

การจัดงาน "African Week"

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า จากการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีต รมว.ศธ.ได้เคยหารือกับประธานคณะกรรมการบริหารและประธานกลุ่มประเทศแอฟริกาในยูเนสโก ที่ฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า เพื่อให้ไทยและประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกาได้กระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในระดับอื่นๆ ต่อไป จึงได้กำหนดจัดงาน African Week ขึ้น โดย ศธ.ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ หอการค้าต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยการจัดงานนี้ สกอ.เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดนิทรรศการและสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องแอฟริกันศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อไป โดยจะมีการแถลงข่าวรายละเอียดการจัดงานในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-พายุ

ในช่วงนี้มีอุทกภัยและวาตภัยเกิดขึ้นในหลายจังหวัดอย่างรุนแรงและฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานศึกษา ครู นักเรียน ที่ประชุมจึงเห็นควรให้องค์กรหลักได้เตรียมความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยหากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ทาง ศธ.พร้อมที่จะตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อจะได้ช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยและวาตภัยอย่างเร่งด่วนต่อไปด้วย

การบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานราชการ

รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนได้นำเรื่องการบรรจุแต่งตั้งลูกจ้างในสังกัด กศน. และ สอศ.เข้าที่ประชุมในครั้งนี้ด้วย เพื่อต้องการให้บรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานราชการ ซึ่งกรณีของ ศธ.นั้นถือว่าเป็นกรณีพิเศษที่จะขอเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบพิเศษใน ๓ เรื่องคือ ๑) ปัจจุบัน ศธ.ขาดแคลนครูอย่างต่อเนื่อง ๒) ศธ.ได้จ้างลูกจ้างพิเศษมาช่วยในเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งบางคนปฏิบัติหน้าที่มายาวนานเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี จึงควรดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรในกลุ่มนี้ให้ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ๓) ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น ครูอัตราจ้างในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) สังกัด กศน.ได้มีบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น เช่น การจัดตั้ง กศน.ตำบล รวมทั้งมีภาระการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น การจัดตั้งอาสาสมัครรักการอ่าน

ดังนั้นจึงจะนำเรื่องนี้เสนอให้ ครม.เพื่อพิจารณาบรรจุครู ศรช.ซึ่งเป็นพนักงานอัตราจ้าง ให้เป็นพนักงานข้าราชการต่อไป โดยมอบหมายให้ กศน.และ สอศ.ได้ประสานความเข้าใจให้ ก.พ.ร.รับทราบและเข้าใจถึงสภาพปัญหาและความจำเป็นของ ศธ.ด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: