วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดงาน African Week


รมว.ศธ กล่าวว่า สืบเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศในทวีปแอฟริกามีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการและการศึกษา มีคณะผู้แทนจากประเทศแอฟริกาเดินทางมาศึกษาดูงานในประเทศไทยหลายคณะ มีการพบปะหารือของผู้บริหารระดับสูงและมีมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งได้ดำเนินความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของแอฟริกา
กลุ่มประเทศแอฟริกาได้มีบทบาทสนับสนุนท่าทีของไทยในเวทียูเนสโกอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นความสำคัญที่จะให้มีการกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น จึงได้เสนอที่จะจัดงาน African Week ในประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศในแอฟริกาให้แก่คนไทยอย่างกว้างขวาง และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน African Week ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม การะทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม และสถานเอกอัครราชทูตของประเทศแอฟริกาในไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา ของภูมิภาคแอฟริกาให้แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ และนักธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศแอฟริกา และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับแอฟริกา

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติม กิจกรรมที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา ความร่วมมือทางการศึกษาและวิชาการ การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทย-แอฟริกา การจัดสัมมนา/เสวนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ การแสดงภาพวาดของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในหัวข้อ "แอฟริกา/แอฟริกันที่ฉันรู้จัก" การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมไทย-แอฟริกา โดยนักศึกษาแอฟริกาจากมหาวิทยาลัยสยาม นักแสดงจากเคนยา และการแสดงของนักเรียนไทยเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการพบปะหารือและการศึกษาดูงานของคณะผู้แทนแอฟริกาในไทย ฯลฯ
จุดเด่นของการจัดงานครั้งนี้อยู่ที่การจัดบูธออกร้านแสดงศักยภาพและความก้าวหน้าของสถานเอกอัครราชทูตแอฟริกาและตัวแทนบริษัทของแอฟริกาในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๔๐ บูธ รวมทั้งยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมแท้ๆ ของแอฟริกาที่หาชมได้ยาก ตลอดทั้ง ๔ วัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักลงทุน ประชาชนทั่วไปที่จะได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความรู้จักกับภูมิภาคแอฟริกาให้มากยิ่งขึ้นต่อไป.

5องค์กรหลักหนุนรื้อโครงสร้างศธ.
นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานพิจารณาสถานะสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีรศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเชิญผู้บริหารระดับสูง 5 องค์กรหลักของ ศธ.ร่วมหารือเรื่องโครงสร้างของ ศธ.ด้วย โดยมีความเห็นกันว่าโครงสร้างของ ศธ. ที่ได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสม และในกฎหมายก็ได้เปิดช่องให้มีการผลักดันเป็นทบวงได้ คือ ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทบวงการอาชีวศึกษา ทบวงการอุดมศึกษาส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) และสำนักงาน สกศ. ยังคงเป็นสำนักงานเช่นเดิม ทั้งนี้ที่ ประชุมได้เสนอให้มีการจัดประชุมสัมมนาว่า หากจะมีการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่จะต้องมีรูปแบบเป็นอย่างไร
"โครงสร้างของ ศธ.ในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานบุคคล เพราะเป็นกลไกที่ไม่มีอธิบดี จึงทำให้หาคนภายในของแต่ละแห่งมาเป็นรองเลขาธิการได้ยาก ต้องดึงคนนอกมา เนื่องจากบุคลากรที่มีอยู่ขาดคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นผู้บริหารระดับต้นหรือรองอธิบดี แต่หากปรับโครงสร้างใหม่ให้องค์กรหลักของ ศธ.เป็นทบวง ก็จะทำให้สามารถมีหน่วยงานที่มีฐานะเป็นกรมภายในได้" ปลัด ศธ.กล่าวและว่าสำหรับการปรับโครงสร้างของ สป.ศธ. นั้น ยังเดินหน้าตามเดิม คือ การเสนอแก้กฎหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีฐานะเป็นกรมใน สป.ศธ. อย่างไรก็ตามเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. ทั้งหมดจะต้องให้ได้ข้อสรุปในภาพรวม เพื่อนำเสนอให้ รมว.ศธ.คนใหม่พิจารณาต่อไป.

ผลประชุม ก.พ.อ. เดือนกันยายน ๒๕๕๓

รมว.ศธ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการกำหนดเงินเดือนและเลื่อนเงินเดือน การกำหนดอัตราเงินประจำตำแหน่งและการได้รับเงินประจำตำแหน่ง ของตำแหน่งประเภทวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบบริหารงานบุคคล (ที่ยกเลิกระบบซี)
โดยตำแหน่งวิชาการ ให้กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำเฉพาะตำแหน่งอาจารย์เท่านั้น (อัตราแรกบรรจุวุฒิปริญญาโท) ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ กำหนดเฉพาะเงินเดือนขั้นสูงอย่างเดียว เพื่อมิให้มีการก้าวกระโดดเรื่องเงินเดือน และให้คงอัตราเงินประจำตำแหน่งไว้ตามเดิม เนื่องจากตำแหน่งวิชาการใช้ระบบจำแนกตำแหน่งตามวิทยฐานะ การเข้าสู่ตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือน เป็นระบบที่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถของบุคคลและผลงานทางวิชาการเป็นหลัก
รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานระหว่าง สกอ. และ สป. (ก.ค.ศ.) เพื่อศึกษาภาพรวมของค่าตอบแทนของข้าราชการ ศธ. ทั้งระบบ ในกลุ่มสายผู้สอนเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ในการจูงใจให้คนเก่ง คนดี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการของผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์ จำนวน ๗ ราย ก่อนนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนี้
๑. รศ. อนุวัฒน์ ศิริวัฒน์ สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒. รศ. รังสรรค์ ตั้งตรงจิตร สาขาวิชาโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๓. รศ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๔. รศ. ธเนศวร์ เจริญเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๕. รศ. ธีรชัย อภิวรรธกกุล สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๖. รศ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๗. รศ. ปาริชาต สถาปิตานนท์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น: