วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

สพฐ.เตรียมประเมินสมรรถนะครู

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ โดยจะเริ่มจากการประเมินสมรรถนะครูเป็นรายบุคคล เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลตามระดับสมรรถนะ ซึ่งในการประเมินจะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นสมรรถนะเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่ครูสอน ส่วนที่สองจะแยกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ สมรรถนะหลัก ซึ่งเป็นสมรรถนะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะต้องรู้ในการดำเนินการที่มุ่งผล สัมฤทธิ์ของผู้เรียน และสมรรถนะประจำสายงาน ที่เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่าง ๆ ซึ่งในการประเมินสมรรถนะนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะดำเนินการบางส่วน และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วย เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะประเมินสมรรถนะด้านการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้จะเริ่มประเมินในช่วงเดือนมีนาคมนี้

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ในการประเมินนั้น ครูไม่จำเป็นต้องไปติว เพราะไม่มีผลต่อการเลื่อนวิทยฐานะ โดยจะนำผลมาใช้เพื่อการพัฒนาเท่านั้น แต่ในอนาคตจะพยายามให้การประเมินส่งผลต่อการประเมินวิทยฐานะด้วย เพราะครูจะต้องมีความเชี่ยวชาญหรือรอบรู้ในวิชาที่สอน ซึ่งในหลักเกณฑ์วิธีให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว 17 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ก็เปิดช่องทางไว้ว่า การประเมินด้านความรู้ ความสามารถของครูจะมีการพิจารณาผลของการประเมินสมรรถนะหรือการอบรมในหลักสูตรที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้การรับรองด้วย

“เมื่อระบบการประเมินสมรรถนะเดินหน้ามากขึ้น ต่อไปหากครูคนใดผ่านการอบรมก็จะถือเป็นเครดิตประกอบการเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ผลการประเมินสมรรถนะจะเป็นสิ่งยืนยันในความรู้ ความสามารถของครู และช่วยให้คณะกรรมการประเมินวิทยฐานะมีหลักการประกอบการพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น” ดร.ชินภัทร กล่าว.

สพฐ.ไฟเขียว ขรก.ครู 12,865 ราย เออร์ลีฯ ปี’54
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด(เออร์ลีรีไทร์) ประจำปีงบประมาณ 2554 ของ สพฐ.โดยจากการที่ สพฐ.ได้รับอนุมัติโควตาผู้เข้าร่วมโครงการนี้จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จำนวน 12,867 ราย ซึ่งเดิมมีผู้ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการ จำนวน 13,025 ราย แต่ภายหลังเปิดให้ข้าราชการที่ต้องการเปลี่ยนใจสามารถถอนเรื่องได้นั้น ปรากฏว่า มีผู้ถอนเรื่อง จำนวนหนึ่ง ขณะนี้จึงเหลือผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 12,865 ราย ซึ่งทั้งหมดจะได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ เพราะอยู่ในโควตา อีกทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีงบประมาณบุคลากรมาจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ 8-15 เท่า แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการบรรจุข้าราชการทดแทน 5 เดือนอย่างเพียงพอด้วย ดังนั้นสพฐ.จึงไม่จำเป็นต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้เงินเหลือจ่ายของ สพฐ.อีก

นายชินภัทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 12,865 ราย จำแนกเป็น ข้าราชการพลเรือน 46 ราย นอกจากนี้ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 12,819 ราย โดยใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเป็นเงินขวัญถุงทั้งสิ้น 5,487,901,950 บาท จำแนกเป็นข้าราชการในสถานศึกษาระดับประถมฯ 9,323 ราย งบประมาณ 3,976,545,035 บาท ระดับมัธยม 3,128 ราย งบประมาณ 1,326,559,620 บาท และข้าราชการใน สพท.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) และ ส่วนกลาง สพฐ.414 ราย งบประมาณ 184,797,295 บาท

นายกมล ศิริบรรณ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.กล่าวว่า จากการสอบถามข้าราชการที่เปลี่ยนใจถอนตัวออกจากโครงการนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทุกประเภทรวมถึงข้าราชการครู ซึ่งหากรับราชการต่อก็จะทำให้มีเงินเดือนสูงขึ้น และจะมีเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเสียชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น: