วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ก.ค.ศ.ห่วงงานเขตมัธยมฯล้น ชี้กฎหมายเปิดช่องผอ.สพท.นั่ง "ผอ.สพม."

นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาวิสามัญ (อ.ก.ค.ศ.) ที่ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานัดแรกเมื่อเร็วๆ นี้ ตนในฐานะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เสนอในที่ประชุมว่า อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ มีภาระหน้าที่ใหญ่มาก เพราะต้องดูแลข้าราชการครูมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ดังนั้น สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องนี้ ควรจะต้องมีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลครูมัธยมศึกษาทั่วประเทศ และต้องดูว่าจะสามารถทำงานได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด เพราะงานทุกอย่างมารวมอยู่ที่เดียวทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงนี้จะมีการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศแทนตำแหน่งผู้ที่เกษียณอายุราชการด้วยโดยอำนาจต่างๆ อยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯชุดนี้หมดจึงมีความจำเป็นที่ สพฐ.จะต้องวางแนวทางต่างๆ ให้ดีเพื่อไม่เกิดปัญหาตามมา

รองเลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังได้เสนอในที่ประชุมให้ สพฐ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งมีผู้แทน ก.ค.ศ.เป็นที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาดูหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหาร ครูผู้สอนสายมัธยมศึกษาที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้งานลงตัวเร็วขึ้นดีกว่าหารือกันเป็นเรื่องๆ กับ ก.ค.ศ.เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการที่ภาระของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯค่อนข้างจะหนักมาก เพราะด้วยกรอบระยะเวลา 180 วันที่กำหนดไว้ทำให้อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯจะต้องพิจารณาเรื่องๆ ต่างมากมายในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา อาทิ วิทยฐานะ การโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา การเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งบรรจุข้าราชการครู การพิจารณาเรื่องวินัย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมาขออนุมัติจาก อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯชุดนี้ ดังนั้น น่าจะทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาแต่ละเรื่อง และที่สำคัญจะทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากความล่าช้าดังกล่าวได้

"ส่วนตัวเห็นว่าภาระงานหลายเรื่องควรให้เขตพื้นที่การศึกษาเดิมพิจารณาเรื่องที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเสนอมาที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ เพราะขณะนี้ 42 เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอาจจะยังไม่มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบงานต่างๆ เฉพาะเรื่องงานธุรการก็มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมาก เช่น การขอคำรับรองเงินเดือน การขอทำบัตรประจำตัว" นายพิษณุกล่าว และว่า สำหรับกรณีที่ สพฐ.ระบุว่า ผู้ที่เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดิมสามารถที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหาคัดเลือกนั้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 38 สามารถดำเนินการได้โดยสามารถย้ายมาเป็น ผอ.สพม.ได้เลยโดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สพฐ.

การสร้างพลเมืองในภาคปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้รับเชิญเข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การสร้างพลเมืองในภาคปฏิบัติ” ในการประชุมระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 8 และการประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 7 “นิติรัฐและพลเมือง : ทางออกประเทศไทย” ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยมี ดร.วิชัย ตันศิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมอภิปราย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายในครั้งนี้
ด้านผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า นิติรัฐไม่ได้มีเพียงกฎหมายที่ใช้ปกครองแต่จะต้องมีพลเมืองที่เคารพกฎหมายด้วย เพราะระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกครองโดยประชาชน กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการตกลงกันระหว่างประชาชน และพลเมืองก็เป็นหัวใจของความสำเร็จในเรื่องนิติรัฐ เราจะสร้างพลเมืองขึ้นมาได้อย่างไร ใน วันนี้จะได้รับฟังวิทยากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างพลเมืองในภาคปฏิบัติ มานำเสนอความเห็นในเรื่องนี้
ด้านศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ความเป็นพลเมืองนั้นมีแก่นแท้อยู่ 3 ประการ คือ 1.การเคารพกฎหมาย 2.การรู้จักสิทธิ หน้าที่ และพื้นฐานของตนเอง 3.การเคารพความแตกต่างและอยู่ร่วมกันบนกติกาของบ้านเมือง การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องความเป็นพลเมืองจึงมีความจำเป็นในระดับหนึ่ง แต่การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน พบว่า ในรายวิชาบางวิชาที่มีความซ้ำซ้อนกัน หากตัดทอนเวลาเหล่านั้นแล้วนำกิจกรรมความเป็นพลเมืองมาเสริม ก็จะช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเองได้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เช่น บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งฝึกให้เด็กอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า และให้เด็กเลือกหัวข้อจากหนังสือพิมพ์นำมาอภิปรายร่วมกัน โดยมีครูคอยสอดแทรกกระบวนการคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นมีที่มาอย่างไร และบทสรุปที่ได้เป็นอย่างไร และทำอย่างไรจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้
สำหรับภารกิจการสร้างความเป็นพลเมืองนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการสร้างความเป็นพลเมือง ให้แต่ละหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการนำไปปฏิบัติ โดยเริ่มจากการทำโครงการนำร่อง โดยนำตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ(best practice) มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือหรือดีวีดี เพื่อเผยแพร่ให้แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษานำไปเป็นตัวอย่าง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นปีการศึกษา 2554
ด้านดร.วิชัย ตันศิริ กล่าวว่า ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศเกิดจากวิวัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สิ่งสำคัญคือต้องสร้างระบบนิติรัฐให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยสร้างแต่ระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ได้สร้างนักประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในประเทศก็คือการยอมรับความแตกต่างได้ ความเป็นพลเมืองจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ จะต้องสร้างขึ้น โดยปัจจัยหรือตัวแปรในการสร้างความเป็นพลเมืองประการแรก คือ กรอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยการศึกษาจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ประการที่ 2 คือ ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวะสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม มีการกระจายรายได้ มีสภาวะของความเป็นเมืองมากกว่าชนบท และประการที่ 3 คือ การสื่อสารมวลชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง การสอนหน้าที่พลเมืองที่ดีที่สุดคือการมีแบบอย่างที่ดี เริ่มต้นที่ผู้นำต้องมีประชาธิปไตยเป็นต้นแบบ ชุมชน รวมถึงครูในโรงเรียนต้องสนับสนุนให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย อาทิ การจัดให้มีอาสาสมัครเข้าไปส่งเสริมให้เกิดกลุ่มปฏิบัติงานของหมู่บ้าน เช่น กลุ่มสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มอาชีพ ฯลฯ ให้ชาวบ้านสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในหมู่บ้าน มีการวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง คัดเลือกผู้นำด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: