วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

มติ ครม. ๗ กันยายน ๒๕๕๓

- เห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท ของนักเรียนนักศึกษา
ครม.เห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และให้มีคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา โดยให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวง กรม และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศธ.เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่นักเรียนนักศึกษามีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน บางกรณีมีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพและถึงแก่ชีวิต นักเรียน นักศึกษาบางรายเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออยู่ในเหตุการณ์ ก่อให้เกิดการเสียขวัญและเป็นที่วิตกกังวลของผู้ปกครองและสังคมทั่วไปนั้น ศธ.ได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ประกอบด้วย
มาตรการเชิงรุก
๑. ให้สถานศึกษาจัดทำข้อมูลประวัติของนักเรียนนักศึกษาทุกคนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดต้องมีข้อมูลเชิงลึกพร้อมภาพถ่ายและประวัติผู้ปกครอง จัดส่งให้สถานีตำรวจในพื้นที่ ศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ปกครองได้รับทราบและร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นการป้องปราม โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วัน
๒. จัดให้มีการติดตามเฝ้าระวังจุดเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง ที่นักเรียนนักศึกษาจะกระทำความผิด ทั้งนี้ให้ตำรวจท้องที่ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่เทศกิจพิทักษ์ นักเรียนของกรุงเทพมหานครประสานงานร่วมกันในการสุ่มตรวจตรวจจุดเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง หากปรากฏพบว่ามีนักเรียนนักศึกษาที่กระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
๓. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้รับใบอนุญาต ครู อาจารย์ จะต้องกำกับดูแลความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา ตามมาตรการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด หากสถานศึกษาใดปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทและเกิดปัญหาบ่อยครั้งให้ผู้บริหารต้นสังกัดของสถานศึกษาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้สามารถยุติการก่อเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าวโดยเร็ว สำหรับสถานศึกษาเอกชนให้ผู้อนุญาตดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเพื่อพิจารณาถอนใบอนุญาตต่อไป
๔. ให้สถานศึกษาจัดตั้งภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือในการพัฒนานักเรียนนักศึกษา ประกอบด้วย ๑) ภาคีเครือข่ายระดับนักเรียน เช่น เพื่อนช่วยเพื่อน สภานักเรียน สภาเยาวชน เพื่อให้มีการแนะนำและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาและทำกิจรรมในเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน ๒) ภาคีเครือข่ายระดับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมของสถานศึกษา โดยเฉพาะนอกเวลาเรียน เช่น การจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน (After School Program) กิจกรรมยุวตำรวจ ๓) ภาคีเครือข่ายระดับสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และเกิดความสมานฉันท์ระหว่างสถานศึกษา เช่น เครือข่ายจตุรมิตร เครือข่ายกลุ่มสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน เครือข่ายกลุ่มโรงเรียนมัธยม ๔) ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและชุมชน เช่น กลุ่มอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครครูตำรวจ อปพร. กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มสื่อสารวิทยุชุมชน กลุ่มชุมชนในพื้นที่ ขสมก. สมาชิกสภาเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร วัด มัสยิด ประธานชุมชน ประธานหมู่บ้าน ผู้บริหารสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า กลุ่มประชาชนทั่วไป ๕) ภาคีเครือข่ายระดับกระทรวง เพื่อบูรณาการความร่วมมือของกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของเยาวชน
๕. จัดให้มีช่องทางการสื่อสารระหว่างสถานศึกษา ผู้ปกครอง ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ได้ทันต่อสถานการณ์ เช่น สายด่วน ๑๕๗๙ ข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) และเว็บไซต์ แจ้งข่าว กรณีนักเรียนนักศึกษาขาดเรียน กิจกรรมของสถานศึกษา เป็นต้น
๖. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างทั่วถึง รวมทั้งการสอบสวนสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยให้นักเรียนนักศึกษา ก่อเหตุทะเลาะวิวาท พร้อมรายงานผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำทุกวัน

มาตรการต่อเนื่อง

๑. ศธ.และต้นสังกัดจัดทำคู่มือระบบบริหารจัดการเชิงคุณภาพเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการบริหารจัดการในสถานศึกษา เช่น ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบการจัดกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา ที่เหมาะสมกับวัย รวมทั้ง สร้างมาตรการตรวจสอบ การดำเนินการและระบบตรวจติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา
๒. สถานศึกษาจัดอบรม แนะแนวเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาแก่ผู้ปกครอง สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดต้องจัดให้มีระบบการดูแล คัดกรองความประพฤติ ติดตามและประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
๓. ให้สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จัดให้มีผู้รับผิดชอบอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท และให้ต้นสังกัดสนับสนุนงบประมาณ อัตรากำลังคน เครื่องมือและอุปกรณ์ ให้สถานศึกษาอย่างเหมาะสมเพียงพอ
๔. ให้สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น กิจกรรมกีฬา กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและผู้บำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร กิจกรรมอาสาพัฒนาสังคมในชนบทและพื้นที่ทุรกันดาร กิจกรรมเยี่ยมชมทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก
๕. ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างแกนนำนักเรียนนักศึกษา และครูฝ่ายกิจการนักเรียนนักศึกษาเป็นประจำทุกเดือนโดยหมุนเวียนไปในสถานศึกษาของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งร่วมปรึกษาและทำกิจกรรมร่วมกันในเชิงสร้างสรรค์
๖. ในกรณีที่เกิดเหตุหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ให้สถานศึกษารายงานต่อต้นสังกัดทันที ทั้งนี้เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไข ป้องกัน และระงับเหตุได้อย่างทันการณ์
๗. ให้มีการบูรณาการและพัฒนาหลักสูตรทุกระดับการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี มีความภาคภูมิใจในตนเอง เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีความอดทนและมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงบวกและรู้จักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
๘. ส่งเสริมให้มีการจัดทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และศึกษาองค์ความรู้จากผลการวิจัยของต่างประเทศและในประเทศ ในการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความยั่งยืน

มาตรการทางสังคม

๑. รัฐต้องส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาโดยผนึกกำลังให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในการสร้างความเข้าใจ สร้างเจตคติ และค่านิยมที่ถูกต้องเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
๒. ผู้ปกครอง บุคคลในสังคมทุกสาขาอาชีพ หน่วยงานของรัฐและเอกชน และสถาบันครอบครัว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนนักศึกษา และเยาวชน
๓. สื่อมวลชนทุกแขนงต้องส่งเสริมข่าวสารข้อมูลนักเรียนนักศึกษาที่ทำความดี ให้มากและต่อเนื่อง ลดการเสนอข่าวสารข้อมูลที่ยั่วยุและส่งเสริมค่านิยมในความรุนแรงเนื่องจากปัจจุบันค่านิยมของวัยรุ่นชอบเลียนแบบค่านิยมที่ไม่เหมาะสม

มาตรการทางกฎหมาย

๑. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับความประพฤติและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนนักศึกษา และเยาวชนมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง

๒. กรณีบทบัญญัติในกฎหมายใดไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานดังกล่าว ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจ หน้าที่ตามกฎหมายเสนอปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: