วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ ดังนี้

- การเตรียมจัดงานวันครูปี ๒๕๕๔ เนื่องจากในปี ๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ศธ.จึงได้เตรียมจัดงานวันครูที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน ตลอดจนมีกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะเป็นเจ้าภาพหลักและประสานกับองค์กรหลักในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการจัดงานวันครูให้เป็นไปตามเป้าหมาย

- แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑) มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างชัดเจน จากการที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) มา ๔ ครั้ง ได้กำหนดวิสัยทัศน์ กรอบแนวทาง มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (กขป.) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีกรอบแนวทาง ดังนี้
การพัฒนาคุณภาพคนไทย มี ๑๗ แผนงาน / ๕๓ โครงการ
- การพัฒนาคุณภาพครู มี ๓ แผนงาน / ๑๕ โครงการ
- การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ มี ๗ แผนงาน / ๑๖ โครงการ
- การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ มี ๑๓ แผนงาน / ๓๗ โครงการ

ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแผนปฏิบัติการนี้ต่อ กนป. ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ เพื่อให้ความเห็นชอบ และ ศธ. จะรณรงค์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยมุ่งเน้นการตระหนักรู้เพื่อให้เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และคุณภาพของคนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

- มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา สังกัด สช. ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓ ตามที่ ศธ.เสนอ ซึ่งมีทั้งมาตรการเชิงรุก มาตรการต่อเนื่องระยะยาว มาตรการทางสังคม และมาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ เพื่อนำแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน โดยให้ยึดกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้ผู้บริหาร ศธ. ได้มีการตรวจนักเรียนกลุ่มเสี่ยง สถานศึกษากลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยจะประสานกับฝ่ายตำรวจอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ศธ.จะแต่งตั้งสารวัตรนักเรียนเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด

- การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีข้อเสนอให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทำความตกลงร่วมกันกับฝ่ายมั่นคง เพื่อจัดทำเป็นแผน/มาตรการความร่วมมือรายโรงเรียน รวมทั้งเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น เงิน พ.ส.ร. การปูนบำเหน็จความดีความชอบ เงินวิทยฐานะ และการประกันชีวิต ตลอดจนแผนปรองดอง เพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการทางสังคมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมแห่งสันติภาพ.

รร.เตรียมอุดมออกนอกระบบ

สพฐ.เดินหน้าดัน รร.เตรียมอุดมฯ ออกนอกระบบ ให้อิสระบริหารจัดการได้เอง แถมต่อไปจัดสัดส่วนรับนักเรียนได้ตามใจ ขณะที่วางผังจัดงบปี 54 เสร็จแล้ว เน้น 10 ข้อ หวังเพิ่มศักยภาพทางการศึกษารอบด้านก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงแผนปฏิบัติการของ สพฐ.ประจำปีงบประมาณ 2554 ซึ่ง สพฐ.ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 โดยในภาพรวมปี 54 สพฐ.ได้งบประมาณจำนวน 245,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 53 จำนวน 24,648 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบุคลากร 173,066 ล้านบาท งบดำเนินงาน 16,276 ล้านบาท งบลงทุน 12,163 ล้านบาท งบอุดหนุน 42,738 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นๆ 1,505 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อทราบความชัดเจนของตัวเลขงบประมาณแล้ว สพฐ.ก็จะจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงาน

โดยจะมีจุดเน้น 10 ข้อ คือ 1.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 5 กลุ่มสาระวิชาหลักจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 4 2.นักเรียนชั้น ป.3 ทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ 3.เพิ่มศักยภาพนักเรียนในด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นหนึ่งในสองของอาเซียน 4.นักเรียนทุกคนมีความสำนึกรักชาติ 5.ลดอัตราการออกกลางคัน จะต้องมีความเป็นรูปธรรมขึ้น 6.สร้างทางเลือกการเรียนรู้เชิงบูรณาการ โดยจะเน้นหลักสูตรที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ให้ รร.จัดทำหลักสูตรทางเลือกโดยเฉพาะทักษะด้านอาชีพ 7.สถานศึกษาทุกแห่งต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน 8.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผ่านการประเมินคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับดี 9.เตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ 10.เร่งพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นให้ส่วนกลางกระจายอำนาจไปยัง สพท. และ รร. โดยส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและสนับสนุนในเรื่องงบฯ ซึ่ง สพฐ.จะกระจายงบลงไปที่เขตพื้นที่ฯ ร้อยละ 70 เหลืออยู่ที่ส่วนกลางร้อยละ 30 ขณะที่เขตพื้นที่ฯ จะนำนโยบายไปจัดทำแผนปฏิบัติให้สอดคล้อง

นายชินภัทรกล่าวต่อว่า ส่วน รร.จะเน้นการบริหารที่มีความคล่องตัว ซึ่ง สพฐ.พยายามหารูปแบบการบริหารที่สะท้อนศักยภาพของ รร. และพัฒนาไปสู่การเป็นนิติบุคคลโดยในปี 54 นี้จะเร่งดำเนินการให้มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รร.ที่ออกนอกระบบจะมีความอิสระในเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ นอกจากนั้นก็ยังสามารถกำหนดรูปแบบการรับนักเรียนได้เองภายใต้กรอบและหลักสูตรของ สพฐ.

"สำหรับโรงเรียนที่ต้องการจะออกนอกระบบทาง รร.จะต้องแสดงความจำนงมายัง สพฐ. โดยที่ผ่านมามี รร.เตรียมอุดมศึกษาได้แสดงความจำนงขอเป็นนิติบุคคลหรือออกนอกระบบเข้ามาแล้ว ซึ่งถือเป็นแห่งแรกที่เสนอตัวเข้ามา และขณะนี้ สพฐ.กำลังพิจารณาความพร้อมของ รร.เตรียมฯ อยู่โดยจะต้องนำเข้าที่ประชุม กพฐ.ต่อไป ซึ่งหาก กพฐ.เห็นชอบก็จะถือเป็น รร.แรกที่ออกนอกระบบ" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น: