วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

การขับเคลื่อนและบูรณาการการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสของไทย


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “การขับเคลื่อนและบูรณาการการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสของประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก และองค์การซีมีโอ ได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน โดยได้ให้การรับรองว่า ในปี ๒๕๕๘ เด็กไทยทุกคนทั้งที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เด็กด้อยโอกาส เด็กในชนกลุ่มน้อย จะสามารถเข้าถึงและเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้นโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเข้าถึงปฏิญญาสากล เพราะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้กับเด็กไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่สถานะใด ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน
การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นของ ศธ. ในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการศึกษา การเรียนรู้ของคนไทย ช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้อย่างทั่วถึง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นเป้าหมายที่ต้องการเห็นพลเมืองยุคใหม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้ ซึ่งในอีก ๕ ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากจะมีการสื่อสารระหว่างกัน มีการลงทุน การจัดการศึกษา และการบริการร่วมกันแล้ว ความเข้าใจในวัฒนธรรม ประเพณี และการมีเจตคติที่ดีระหว่างคนในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วยกัน ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีพลังในการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และการพัฒนาในภูมิภาคมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปด้วย

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ในยุคปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีจุดเน้น ๓ เรื่อง คือ การชูธงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง การพัฒนาครู และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดย ศธ.ได้ส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในระดับตำบล เรียกว่า “กศน.ตำบล” ในทุกตำบล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูก ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกขึ้น รวมทั้งประหยัดเวลา และสอดคล้องกับทักษะชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ศธ.จะจัดตั้งแหล่งเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ประชาชน ห้องสมุดอำเภอและจังหวัด เพราะสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ศธ.จึงมุ่งเน้นพัฒนาเยาวชนในระบบโรงเรียนให้มีความสามารถในการเป็นพลโลก และให้ประชาชนมีกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ได้กำหนดให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสำหรับการผลิต การเพิ่มมูลค่า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภายใต้เงื่อนไข FTA ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพของคน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในอนาคต แต่สิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยคิด คือ การเชื่อมต่อระหว่างการศึกษากับวัฒนธรรมและประเพณีของประชาคมอาเซียน ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีการพัฒนาในประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ศธ.ได้ส่งเสริมในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ด้านร่างกายและด้านปัญญา ให้มีโอกาสได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง โดยการจัดตั้งสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ การส่งเสริมการเรียนร่วม และการสร้างครูที่บ้าน คือ พ่อแม่ ให้มีโอกาสในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ได้ นอกจากนี้ ศธ.ยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน ให้มีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อย เด็กชาวเขา และเด็กพื้นที่ชายแดน ซึ่งในปีนี้การช่วยเหลือมีจุดเน้นสำคัญ คือ การเรียนรู้ของสตรีที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมทั้งการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ด้วย ซึ่ง ศธ.ได้มุ่งเน้นขยายโอกาสการศึกษาทางเลือก เพื่อให้กลุ่มด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกันต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: