วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการดำเนินงานส่งเสริมการอ่าน ปี ๒๕๕๔ โดย กศน.ได้เสนอกิจกรรมหลัก ๕ ด้าน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรม เช่น มหกรรมรักการอ่าน ๔ ภูมิภาค เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การติดตามประเมินผล และโครงการอาสารสมัครส่งเสริมการอ่าน เพื่อขยายแกนนำอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านในชุมชนให้เพิ่มขึ้น

ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาแผนงาน ๕ แผน ที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการอ่าน ได้จัดทำขึ้น คือ รณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เพิ่มสมรรถนะการอ่าน สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการอ่าน เครือข่ายความร่วมมือการอ่าน การวิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่าน การพัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน

รมว.ศธ.ได้มอบแนวคิดให้มีการดำเนินการ เพื่อให้เห็นถึงกลยุทธ์/กิจกรรม และให้เห็นภาพชัดเจนว่า มีการส่งเสริมการอ่านเกิดขึ้น โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและให้ฝ่ายเลขานุการไปปรับปรุงให้ครอบคลุม นำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองมาบูรณาการ โดยมีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และภาคเอกชนเข้ามาเชื่อมโยงด้วย เช่น มาตรการเชิงรุกด้านภาษี ที่บุคคลธรรมดาจะได้รับการลดหย่อนภาษีไม่เกิน ๓๐% จากการบริจาคหนังสือและจากการซื้อหนังสืออ่าน ไม่เกินปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ให้ประสานกับองค์กรหลักของ ศธ. และหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมร่วมรณรงค์

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมยุทธศาสตร์ แผนงาน ที่ได้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว และได้แต่งตั้งคณะทำงาน ๑ ชุด โดยมีรองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธานคณะทำงาน นายเกียรติชัย พงษ์พานิช เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และมีคณะกรรมการจำนวน ๙ คน ทำหน้าที่รวบรวมยุทธศาสตร์และแผนงานทั้งหมด จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (Road Map) การขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และให้นำมาเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งต่อไป

ซึ่งจะได้นำแผนปฏิบัติการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะได้เดินหน้าส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นทศวรรษการอ่านตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป


ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.)
รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กขป.ได้ให้ความเห็นแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑) ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา (กนป.) ได้กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดแล้ว คณะกรรมการ กขป.ก็ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ

โดยได้มอบหมายให้มีเจ้าภาพหลัก เจ้าภาพรอง มีการจัดทำแผนงานเพื่อใช้จ่ายงบประมาณ ในส่วนของแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบแนวทาง ๔ ใหม่ ได้แก่ พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่มี ๑๗ แผนงาน ครูยุคใหม่ ๓ แผนงาน สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ ๗ แผนงาน การบริหารจัดการใหม่ ๑๓ แผนงาน ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม และได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการไปปรับปรุงในรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ กนป. ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบแผนงบประมาณขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๕๔-๒๕๖๑ จำนวนประมาณ ๑ ล้านล้านบาท โดยมีแผนงานหลักที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เช่น โครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปี และทุนอุดหนุนการศึกษา จำนวน ๗๒๗,๓๖๕ ล้านบาท แผนงานเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ๒๘๖,๘๕๗ ล้านบาท แผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ราคาถูก ๓๖,๒๓๑ ล้านบาท แผนเพิ่มคุณภาพสถานศึกษาและสื่อทุกรูปแบบ ๓๒,๑๑๑ ล้านบาท แผนงานเสริมทักษะการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๑๑ จำนวน ๒๙,๖๕๗ ล้านบาท แผนงานพัฒนาครู ๒๗,๙๔๙ ล้านบาท แผนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (รวมโรงเรียนดีประจำตำบล) ๑๒,๕๗๑ ล้านบาท แผนงานพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย ๑๗,๒๕๕ ล้านบาท แผนงานปฏิรูปการอาชีวศึกษา ๑๔,๒๖๓ ล้านบาท แผนงานปฏิรูปอุดมศึกษา ๕,๐๓๖ ล้านบาท แผนงานประเมินคุณภาพภายใน-ภายนอก ๔,๖๓๙ ล้านบาท แผนงานเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา ๕,๙๒๒ ล้านบาท

ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ต่อคณะกรรมการ กนป. พิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ นับเป็นการเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง ศธ. ได้มีการเตรียมการที่จะประกาศขับเคลื่อนในเชิงคุณภาพของผู้เรียน ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: