วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

การประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ บริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบระเบียบคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการทำข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาและการใช้ค่ายลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้ลงนามเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ เพื่อให้มีการพัฒนาค่ายลูกเสือและสนับสนุนการจัดกิจกรรมลูกเสือ

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการไปจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เร่งรัดการสร้างกลไกต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการมาใช้บริการและการปรับปรุงค่ายลูกเสือ ซึ่งเป็นการรณรงค์การพัฒนาค่ายลูกเสือให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี การลูกเสือไทย พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งได้มีการเตรียมการ ดังนี้

๑. การสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

๒. งานสโมสรสันนิบาตเทิดพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

๓. งานชุมนุมลูกเสือพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกอาเซียน

๔. กิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีทางการลูกเสือระหว่างประเทศ

๕. พัฒนาค่ายลูกเสือให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมทางการลูกเสือและแหล่งเรียนเรียนรู้นานาชาติต้นแบบ

๖. ทำของที่ระลึก และหารายได้เพื่อพัฒนากิจการลูกเสือ

๗. งานมหกรรม “มหัศจรรย์ ๑๐๐ ปี การลูกเสือไทย”

๘. การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง

๙. สร้างภาพยนตร์สารคดี “ตามรอยเสือป่าที่มาลูกเสือไทย”

๑๐.งานชุมนุมลูกเสือ ๔ ภาค และงานชุมนุมลูกเสือนานาชาติ

๑๑.งานชุมนุมลูกเสือชาวบ้านเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา และฉลอง ๑๐๐ ปี การลูกเสือไทย

๑๒.สร้างภาคีเครือข่ายลูกเสือสัมพันธ์ฉลอง ๑๐๐ ปี การลูกเสือไทย


ผลวิจัยชี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติว่าเด็กพิการไม่สามารถเรียนได้

นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค โดยกล่าวว่า การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กพิการเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมีพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน นอกจากนี้ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) กำหนดเป้าหมายการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ซึ่งกล่าวถึงเด็กด้อยโอกาสในหลายกลุ่มรวมถึงเด็กพิการด้วย ซึ่งในปัจจุบันการจัดการศึกษายังขาดในเรื่องสื่อการเรียน ครูผู้สอน และอุปกรณ์การเรียนการสอน ให้เด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร สกศ.จึงร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ นุชผ่องใส และคณะทำการศึกษากรณีศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในเรื่องดังกล่าว และผลจากการประชุมจะนำไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการให้มีคุณภาพต่อไป
ด้านผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสภาพปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการการศึกษาแก่เด็กพิการในประเทศไทยกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารศูนย์การศึกษาพิเศษ ครูและบุคลากรในสถานศึกษาเฉพาะความพิการและในศูนย์การศึกษาพิเศษ เด็กพิการ และผู้ปกครองทั่วประเทศ จำนวน 1,177 คน ซึ่งผลการวิจัยในด้านนโยบายและการบริหารจัดการ พบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ อย่างเท่าเทียมทางสิทธิ โอกาส การมีส่วนร่วมเท่าเทียมกับคนทั่วไป ไม่แตกต่างกัน โดยเด็กสามารถเลือกเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ตามความสามารถ และสามารถเรียนถึงระดับอุดมศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ส่วนในด้านการจัดการเรียนการสอน พบว่า การสอนของครูยังเน้นเรื่องการบรรยายและสาธิต และครูยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสอนคละชั้น ครูไม่ได้รับการนิเทศจากศึกษานิเทศก์หรือสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สำหรับด้านทรัพยากรและปัจจัยเกื้อหนุน พบว่า งบประมาณไม่เพียงพอ ครูต้องปฏิบัติงานทั่วไปและงานธุรการควบคู่กับภาระการสอน ครูไม่มีความรู้เพียงพอในการผลิตสื่อหรือไม่มีเครื่องมือในการผลิตสื่อ ห้องสมุดสำหรับเด็กในสถานศึกษาเฉพาะความพิการยังไม่มีที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติว่าเด็กพิการไม่สามารถเรียนได้และเด็กพิการยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญหรือประโยชน์ของการศึกษา
“หากเปรียบเทียบการศึกษากับเด็กพิการในต่างประเทศ พบว่า การเปิดชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนทั่วไปและการเรียนในชั้นเรียนปกติร่วมกับเด็กทั่วไปในประเทศไทยยังนับว่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดครูการศึกษาพิเศษที่มีความสามารถสอนรายวิชาต่างๆ และไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ ตลอดจนการประเมิน/คัดกรองก่อนเข้าโปรแกรมหรือรับบริการยังไม่มี สำหรับแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ อาทิเช่น การกำหนดนโยบายให้เด็กพิการได้เรียนในโรงเรียนทั่วไปใกล้บ้านหรือเป็นรูปแบบการเรียนร่วม ตลอดจนให้มีหน่วยงานระดับชาติด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการคอยทำหน้าที่ศึกษา วิจัย พัฒนา และเป็นแหล่งข้อมูลด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ อีกทั้งการปรับปรุงหลักสูตรโดยคณะกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการเด็ก และปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าด้านการศึกษาสำหรับคนพิการหรือการศึกษาพิเศษ ตลอดจนการจัดเตรียมอัตรากำลังครูการศึกษาพิเศษให้เพียงพอ เป็นต้น” หัวหน้าคณะวิจัย

ไม่มีความคิดเห็น: