วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ ๙/๒๕๕๓

ร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน ก.ค.ศ. พ.ศ. ....

ที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วย หลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีสาระสำคัญ คือ กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาจากการเลือกตั้ง จำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและมัธยมศึกษา ฝ่ายละ ๑ คน, ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออื่นในหน่วยงานการศึกษาที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งสังกัด สพฐ.ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมและมัธยม ฝ่ายละ ๑ คน, ผู้แทนข้าราชการครู ๕ คน (ซึ่งเลือกจากข้าราชการครูสังกัด สพฐ.ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๓ คน, มัธยม ๑ คน, สังกัด สอศ. ๑ คน), ผู้แทนข้าราชการครูสังกัด สป., สกอ., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกระทรวงวัฒนธรรม ๑ คน, ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นสังกัด สพฐ.ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ฝ่ายละ ๑ คน (ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓)

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กรรมการ ก.ค.ศ.คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, การบริหารงานบุคคล, กฎหมาย, การบริหารจัดการภาครัฐ, การบริหารองค์กร, การศึกษาพิเศษ, การบริหารธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์, การผลิตและพัฒนาครู, ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการบริหารจัดการความรู้ หรือด้านการวิจัยและประเมินผล ด้านละ ๒ คน เพื่อให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเสนอ รมว.ศธ.เลือกให้เหลือด้านละ ๑ คน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและเร่งรัดติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับกฎหมายการศึกษา มีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดกฎหมายการศึกษาให้ทันภายใน ๑๘๐ วัน คือ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔

ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา การกำหนดคุณสมบัติอื่น วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. อนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. ....

การได้มาของอนุกรรมการผู้แทน ก.ศ.ศ. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตั้งคณะกรรมการสรรหาเขตพื้นที่ละ ๒ คน ส่งรายชื่อให้ ก.ค.ศ.พิจารณา, ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ตั้งคณะกรรมการสรรหาไม่น้อยกว่า ๓ คน ชื่อบุคคล เขตพื้นที่การศึกษาละ ๒ คน เสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณา, ให้ ก.ค.ศ.ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจ คณะหนึ่ง มี ๗ คน พิจารณาคัดเลือกให้เหลือเขตพื้นที่ละ ๑ คน เสนอให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง

การได้มาของอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา ให้กรรมการคุรุสภาเสนอชื่อบุคคล เป็นผู้แทนคุรุสภาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ให้คณะกรรมการคุรุสภาคัดเลือกให้เหลือเขตพื้นที่การศึกษาละ ๒ คน, ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติ แล้วตั้งสมาชิกคุรุสภาในเขตพื้นที่นั้น เป็นคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน ๗ คน เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเขตพื้นที่ละ ๔ คน ส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาให้เหลือเขตพื้นที่ละ ๒ คน ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา แจ้งบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ.ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเลือกตั้งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา, ให้ ก.ค.ศ.ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจคณะหนึ่ง มี ๗ คน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลให้เหลือเขตละ ๑ คน เสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณาตั้งเป็นอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา

การได้มาของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ สพฐ.เสนอชื่อบุคคลที่มีความรู้ด้านการบริหารงานบุคคล, ด้านการศึกษา, ด้านกฎหมายและด้านการเงินการคลัง ด้านละไม่เกิน ๒ คน ให้ ก.ค.ศ.พิจารณา, ในเขตพื้นที่การศึกษา ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่มาจากการรับสมัครหรือการเสนอชื่อจากคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ด้านละไม่เกิน ๒ คน ให้ ก.ค.ศ.พิจารณา, ให้ ก.ค.ศ.ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจ จำนวน ๗ คน พิจารณาคัดเลือกบุคคลให้เหลือเขตละ ๑ คน เพื่อเสนอให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง

ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตาย อันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายที่ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต และได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย เลื่อนได้ไม่เกิน ๗ ขั้น, ถูกประทุษร้ายและได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย เลื่อนได้ไม่เกิน ๕ ขั้น, ประสบอุบัติเหตุ เลื่อนได้ไม่เกิน ๓ ขั้น, ปฏิบัติหน้าที่ตรากตรำเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เลื่อนได้ไม่เกิน ๓ ขั้น, ป่วยเจ็บถึงแก่ความตาย เลื่อนได้ ๑ ขั้น

ให้ครอบครัวผู้ถึงแก่ความตาย ได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาของบุตร, ให้ผู้ที่อยู่ในครอบครัวได้รับสวัสดิการด้านการครองชีพ โดยให้ได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอาจได้รับสิทธิพิเศษในการรับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ หรือสิทธิในการทำงานในสถานประกอบการของรัฐ ตามควรแก่กรณี

การกำหนดอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา บุคลากรทางการศึกษาอื่น มาตรา ๓๘ ค (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดไว้เดิม โดยตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดิมมากำหนด

กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๔๒ เขต ได้แก่ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ ๑ ตำแหน่ง รวม ๔๒ ตำแหน่ง ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ ๓ ตำแหน่ง รวม ๑๒๖ ตำแหน่ง และตำแหน่งศึกษานิเทศก์ รวม ๖๙๖ ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต ๑-๒ (กรุงเทพมหานคร) จำนวน ๒ เขตๆ ละ ๔๘ ตำแหน่ง รวม ๙๖ ตำแหน่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓-๔๒ จำนวน ๔๐ เขตๆ ละ ๑๕ ตำแหน่ง รวม ๖๐๐ ตำแหน่ง.

ไม่มีความคิดเห็น: