วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

สกศ. จัดทำมาตรฐานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง การพัฒนามาตรฐานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ยังไม่มีกลไกเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้หน่วยงาน/องค์กร และสถานศึกษาต่างคนต่างดำเนินการจัดการศึกษาด้วยตนเอง ผลวิจัยจึงชี้แนะแนวทางการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของผู้มีความสามารถพิเศษได้ 4 มาตรฐานหลัก สำหรับใช้ตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษมีความสำคัญ ประกอบกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้มีการพูดกันมาก ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างไร หากพิจารณาภายใต้ 3 เสาหลักและกรอบแนวทาง 4 ใหม่นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผู้มีความสามารถพิเศษอยู่ด้วย แม้เด็กดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่จะต้องหาวิธีคัดกรองและกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กเหล่านี้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ามาตรฐานการศึกษาของชาติจะผ่าน พ.ร.บ.ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ก็ตาม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงเรื่องมาตรฐานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สกศ.จึงร่วมกับรองศาสตราจารย์เฉลียวศรี พิบูลชล ผู้วิจัยและคณะ ทำการวิจัยและศึกษาเงื่อนไขการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้การบริหารจัดการและพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศไทยให้ดำเนินการอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพต่อไป

ด้านรองศาสตราจารย์เฉลียวศรี พิบูลชล หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ พบว่า ประเทศเหล่านี้มีมาตรฐานการศึกษาผู้มีความสามารถพิเศษสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผลการศึกษาที่ค้นพบสามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงาน/องค์กร และสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของผู้มีความสามารถพิเศษ โดยมี 4 มาตรฐานหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 มาตรฐานด้านการบริหารจัดการ ด้านที่ 2 คือมาตรฐานด้านกระบวนการเสาะหา/คัดเลือกผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ด้านที่ 3 คือมาตรฐานด้านการจัดการศึกษา และด้านที่ 4 คือมาตรฐานด้านการสนับสนุนทางอารมณ์-สังคม ซึ่งในแต่ละมาตรฐานได้กำหนดมาตรฐานย่อยและตัวชี้วัดในการจัดการศึกษาฯ โดยกำหนดระยะเวลาของการบรรลุมาตรฐานในแต่ละด้าน ซึ่งหน่วยงานที่จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษจะต้องบรรลุเกณฑ์มาตรฐานภายในระยะเวลา 5 ปี

ตั้ง อ.ก.ค.ศ.เฉพาะกิจเลือกเขตละ 1 คน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ในกรณีที่ นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา ออกมาคัดค้านที่คณะกรรมการ ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภาในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) กำหนดแนวทาง คือ 1.ให้กรรมการคุรุสภาเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นผู้แทนคุรุสภาให้คณะกรรมการคุรุสภาคัดเลือกเหลือเขตพื้นที่ละ 2 คน และ 2.ให้เขตพื้นที่การศึกษารับสมัครแล้วตั้งสมาชิกคุรุสภาในเขตพื้นที่ฯเป็นคณะกรรมการคัดเลือกให้เหลือเขตละ 4 คน แล้วส่งรายชื่อให้คณะกรรมการคุรุสภาคัดเลือกเหลือเขตละ 2 คน

หลังจากนั้น ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาแจ้งบัญชีรายชื่อรวมเขตละ 4 รายชื่อดังกล่าวให้กับคณะกรรมการก.ค.ศ.ดำเนินการตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจคัดเลือกให้เหลือเขตละ 1 คน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาแต่งตั้งว่า การสรรหาผู้แทนคุรุสภาในอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ผ่านมาได้กำหนดให้คุรุสภาเป็นผู้เสนอรายชื่อมาให้คณะกรรมการก.ค.ศ.รับรองเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 คน ทำให้มีการร้องเรียนกันเข้ามาว่ามีการบล็อกโหวต ความไม่โปร่งใส และคนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของกรรมการคุรุสภาก็ไม่ได้รับการสรรหาเข้ามาทั้งที่เป็นสมาชิกคุรุสภาคนหนึ่ง และการใช้หลักเกณฑ์เดิมทำให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ไม่สามารถเลือกกรรมการ ที่มาจากตัวแทนคุรุสภาในนามคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เพราะคุรุสภาตีความว่าต้องเป็นกรรมการในนามคุรุสภา ซึ่งจริงๆ แล้วในข้อกฎหมายระบุชัดเจนเป็นการเลือกตัวแทนคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เพียงแต่เลือกจากตัวแทนคุรุสภา อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้สบายใจว่าตนมานั่งตรงนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดระบบการบล็อกโหวต และระบบการเมืองในองค์กรครูและที่สำคัญต้องการการบริหารงานบุคคลเป็นไปด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่ การแก้ปัญหาในข้อร้องเรียนการวิ่งเต้นการโยกย้ายแต่งตั้งต่างๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ก.ค.ศ.ยังไม่เห็นชอบกรอบอัตรากำลังโครงสร้างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและประถมศึกษา ว่า จริงๆ แล้วที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้เห็นชอบกรอบอัตรากำลังแล้วเพียงแต่ท้วงติงว่าควรจะมีหน่วยตรวจสอบภายในด้วย ดังนั้น สพฐ.ก็จะดำเนินการในเรื่องนี้ตามมติและจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบเพื่อจะได้นำเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.ต่อไป

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 กันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น: