วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

มติ ครม.๗ ก.ย.๕๓ (ต่อ)

- เห็นชอบโครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย

ครม.เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมด จำนวน ๑๓ ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สอซช.) หรือ Software Industry Promotion Agency เรียกโดยย่อว่า SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS (Thai Operating System) และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า ปัจจุบันส่วนราชการจำนวนมากมีการใช้ฟอนต์ที่หลากหลายไม่มีมาตรฐานในเอกสารทางราชการ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการหลายแห่งใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาดลิขสิทธิ์ของระบบปฏิบัติงานทำให้จำกัดสิทธิ์ต่างๆ ที่จะมีมาตรฐานเอกสารเป็นเสรี ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการใดๆ เช่น Angsana อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ จึงได้มีการพัฒนาและมีการประกวดแข่งขันฟอนต์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ Open Source Software ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีให้ส่วนราชการไทยประกาศมาตรฐานเอกสารดิจิทัลและรูปแบบของฟอนต์ที่ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการและลิขสิทธิ์ของบริษัทใดๆ เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย ซึ่งในขณะนี้มีฟอนต์ที่ส่วนราชการไทยสามารถเป็นเจ้าของและพร้อมแจกจ่ายให้กับผู้ประสงค์จะใช้งานรวม ๑๓ ฟอนต์ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ สอซช. และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแจกจ่ายให้ใช้อย่างเสรีปราศจากปัญหาด้านลิขสิทธิ์
ดังนั้น เพื่อให้เอกสารต่างๆ ของภาครัฐ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานปราศจากปัญหาลิขสิทธิ์และไม่ได้ขึ้นกับระบบปฏิบัติการระบบใดระบบหนึ่งและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา จึงเห็นควรให้หน่วยงานราชการปฏิบัติดังนี้
๑. ดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมดจำนวน ๑๓ ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย
๒. ให้ติดตั้งและใช้งานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และให้รายงาน ทก. เมื่อได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมีชื่อที่สงวนไว้สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้
TH Sarabun PSK, TH Sarabun PSK Italic, TH Sarabun PSK Bold, TH Sarabun PSK Bold Italic
TH Chamornman, TH Chamornman Italic, TH Chamornman Bold, TH Chamornman Bold Italic
TH Krub, TH Krub Italic, TH Krub Bold, TH Krub Bold Italic
TH Srisakdi, TH Srisakdi Italic, TH Srisakdi Bold, TH Srisakdi Italic Bold Italic
TH Niramit AS , TH Niramit AS Italic , TH Niramit AS Bold , TH Niramit AS Bold Italic
TH Charm of AU , TH Charm of AU Italic, TH Charm of AU Bold, TH Charm of AU Bold Italic
TH Kodchasal, TH Kodchasal Italic, TH Kodchasal Bold, TH Kodchasal Bold Italic
TH K2D July8, TH K2D July8 Italic, TH K2D July8 Bold, TH K2D July8 Bold Italic
TH Mali Grade 6, TH Mali Grade 6 Italic, TH Mali Grade 6 Bold, TH Mali Grade 6 Bold Italic
TH Chakra Petch, TH Chakra Petch Italic, TH Chakra Petch Bold, TH Chakra Petch Bold Italic
TH Baijam, TH Baijam Italic, TH Baijam Bold, TH Baijam Bold Italic
TH KoHo, TH KoHo Italic, TH KoHo Bold, TH KoHo Bold Italic
TH Fah Kwang, TH Fah Kwang Italic, TH Fah Kwang Bold, TH Fah Kwang Bold Italic

--------------------------------------------------------------------------------

- รับทราบสรุปการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีจีน-อาเซียน ด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑

ครม.รับทราบสรุปการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีจีน-อาเซียน ด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑ สรุปได้ดังนี้

๑. การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีจีน-อาเซียนด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการจัดทศกาลสัปดาห์การศึกษาจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๓ จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ และจังหวัดกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประสงค์จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน และจีน ด้านการศึกษา
๒. พิธีเปิดการประชุม จัดขึ้นในวันที่ ๓ สิงหาคม 2553 ประกอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้บริหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก และปาฐกถาพิเศษโดยมาดาม Liu Yandong สมาชิกสภาแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสำคัญต่อการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือภายใต้การเปิดเสรีการค้าระหว่างจีนและอาเซียน ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓
๓. การเจรจาหารือทวิภาคี นาย Yuan Guiren รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน ดังมีรายละเอียด ดังนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศไทย ซึ่งดำเนินครบรอบ ๓๕ ปี นอกจากนี้ ประชาชนของทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์อันดีและติดต่อสื่อสารกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งยังได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ปัจจุบัน มีสถาบันศึกษาขงจื้อ ๑๒ แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ภาษาจีน ๔ แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ได้ขอให้ประเทศไทยส่งเสริมการเรียนภาษาไทยในจีนด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงสร้างคุณูปการแก่สายสัมพันธ์ไทย-จีน รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้ทรงสอนปฏิบัติการเครื่องดนตรีจีน "กู่เจิง" แก่นิสิตภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วย การเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย และคณะนับเป็นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษา และวัฒนธรรมระหว่างกัน นอกจากนี้ได้กล่าวถึงความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนนักเรียน และครูระหว่างจีนและไทยให้มากขึ้นด้วย ทั้งยังได้กล่าวเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีนมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วย
รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีอาเซียน-จีน ด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน และอาเซียน พร้อมทั้งได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ“การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการ ศึกษาจีน-อาเซียน การแลกเปลี่ยน นักเรียน และการสอนภาษา” โดยกระทรวงศึกษาธิการของไทยขอส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเพื่อยกระดับการแข่งขันของภูมิภาค การร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาระหว่างกัน นำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับการปรับตัว และการเคลื่อนย้ายประชาชนในภูมิภาค รวมทั้ง การสนับสนุนการดำเนินการของ อาเซียน ซีมีโอ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน เพื่อร่วมมือกันดำเนินโครงการในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการไหลเวียนขององค์ความรู้อย่างเสรี สร้างเสริมทักษะของแรงงาน และการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในภูมิภาค
ภายหลังจากการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน-จีนแล้ว ได้มีการออกแถลงการณ์กุ้ย หยาง (the Guiyang Declaration) ร่วมกัน สาระสำคัญคือการส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างกลไกเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับประชาชน และการหารือกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสาธารณสุข และกีฬา การส่งเสริมการเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาจากทั้งสองฝ่าย โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเริ่มต้นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนจีนอาเซียน จำนวนหนึ่งแสนคน ภายในปี ๒๕๖๓ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสิ่งท้าทายที่เกิดจากความก้าวหน้าทางสังคมเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะมีการพัฒนาโครงการร่วมปริญญาโทและเอกในสาขาด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การยอมรับคุณวุฒิการศึกษาระหว่างกันในระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการรับรองและถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัย ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอาเซียน การสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนจีน-อาเซียน ๑ แสนคน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ด้านภาษา วัฒนธรรม การกีฬาภายในปี ๒๕๖๓.

ไม่มีความคิดเห็น: