วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

การปฐมนิเทศข้าราชการครูบรรจุใหม่ปี ๒๕๕๓


หอประชุมคุรุสภา - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศข้าราชการครูบรรจุใหม่ปี ๒๕๕๓ "เสริมสร้างพลังครูยุคใหม่ สู่คุณภาพเด็กไทยอย่างยั่งยืน" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน ๑,๕๕๕ คน เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓
รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานปฐมนิเทศข้าราชการครูบรรจุใหม่ในวันนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการครูไทย เพราะที่ผ่านมาเรามีการปฐมนิเทศในเขตพื้นที่หรือในระดับจังหวัด แต่ในวันนี้เราต้องการยกมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเพื่อนครูทั้งหลายที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้รับความรู้สึกและเจตคติในการที่จะเป็นครูที่ดีในอนาคต หวังว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเรามีความภาคภูมิในความเป็นครู ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากพวกเราทุกคนมีความภาคภูมิในความเป็นครู ก็จะทำให้เราเป็นครูเพื่อศิษย์ ครูที่มีจิตวิญญาณในการที่จะยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเรา ถือเป็นบทบาทที่ท้าทายของเพื่อนครูทุกคน

การปฐมนิเทศในวันนี้ท่านทั้งหลายจะได้รับความรู้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ครู ได้แก่ การรักษาสิทธิประโยชน์ของเพื่อนครู ความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และที่สำคัญที่สุดคือ จะได้รับทราบนโยบายและระบบการศึกษาของไทยที่จะต้องร่วมใจพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

"การเสริมสร้างพลังครูยุคใหม่ สู่คุณภาพเด็กไทยอย่างยั่งยืน" จึงเป็นหัวใจสำคัญของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า หากนำการศึกษาเป็นรากฐานในการพัฒนาอย่างครบวงจร จะส่งผลให้สังคมไทยได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป การศึกษาจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทุกด้านต่อไปในอนาคต จึงต้องการเห็นพลเมืองยุคใหม่โดยฝีมือของครูยุคใหม่ของเราในวันนี้ หวังว่าทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญให้ ศธ.ได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายต่อไป
ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศธ.ได้กล่าวบรรยายเพิ่มเติมว่า การประชุมสัมมนาวิชาการปฐมนิเทศครั้งนี้ เป็นการเติมเต็มศักยภาพในการพัฒนาครูไทยไปสู่การพัฒนาคุณภาพเด็กไทย เพื่อให้เพื่อนครูบรรจุใหม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นครู ตนเริ่มต้นมาจากการเป็นครูประชาบาล จึงเชื่อว่ามีความเข้าใจครู เข้าใจเด็ก เข้าใจการศึกษา และไม่ว่าตนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถานะใด ตนก็ภาคภูมิใจในวิชาชีพครู และครูทุกคนปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นครูที่แท้จริง เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องจากสังคม และก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง "อาชีพครู" ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างสูงยิ่ง และเป็นอาชีพที่แตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ ที่มีผลผลิตเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ ที่เราต้องสร้างให้เป็นคนดี

ศธ.ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก เมื่อครั้งที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนการทำงาน ๘ ข้อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับครูใน ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ
๑) การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่ต้องจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้พลเมืองยุคใหม่ของเราเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข โดยมุ่งไปสู่คุณภาพทางการศึกษา ซึ่งเน้นไปที่คุณภาพของผู้เรียนหรือเด็กยุคใหม่ ที่เกิดจากการสอนของครู ซึ่งจะต้องเป็นครูที่มีจิตวิญญาณที่ดี สอนให้เด็กมีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม ส่วนสถานศึกษาหรือแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ จะต้องเป็นสถานศึกษาที่มีมาตรฐานสากลทั้งระดับจังหวัด อำเภอ รวมทั้งระดับตำบล ที่จะมีโครงการโรงเรียนดีระดับตำบล เพื่อรองรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้รับโอกาสที่จะได้เรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น อาจไม่เท่าโรงเรียนระดับสากลหรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียง แต่อย่างน้อยต้องมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนในเมือง
นอกจากนั้น ยังได้มุ่งเน้นระบบการบริหารจัดการใหม่ ที่เน้นการกระจายอำนาจ มุ่งเน้นไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาผู้เรียน จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งสามารถจัดการศึกษาในระบบทางเลือก รวมทั้งมีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ สสส. อันจะเป็นหัวใจที่จะถือธงนำการปฏิรูปการศึกษาไปด้วยกัน นอกจากนั้น ศธ.ถือเป็นกระทรวงแรกที่ได้ประกาศแผนความปรองดองแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อรวมพลังทุกองค์กรหลักทั้งกระทรวง มีการบูรณาการการทำงานที่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา ตามแผนปรองดองไปพร้อมกัน

๒) คุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องที่ ศธ.ได้ย้ำเน้นมาโดยตลอด ที่เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ICT ของกระทรวงฯ เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น สามารถจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ขณะนี้ได้มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยมีเงินประเดิมกองทุนจำนวน ๕ ล้านบาท นอกจากนี้มติ ครม.เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ยังได้เห็นชอบสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อยกโครงข่าย NedNet ให้เป็นเครือข่ายระดับชาติ โดยใช้งบประมาณจำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท และภายใน ๓ ปีโครงข่ายนี้จะทั่วถึงทุกโรงเรียน จากนั้นจะใช้ Content เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ให้นักเรียนสามารถค้นคว้าและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งให้ กศน.ตำบล เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยนี้เช่นกันด้วย

๓) ขวัญกำลังใจครู รมว.ศธ.กล่าวว่า หากไม่สามารถสร้างขวัญกำลังใจ สร้างพลังรวมใจเพื่อนครู ที่เป็นเสมือนหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาได้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จได้ เพราะครูเป็นผู้นำจิตวิญญาณการเปลี่ยนแปลงคนให้เป็นคนดี ยืนยันว่าจะเร่งทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ที่สูงขึ้น โดยเริ่มต้นจากการคิดประดิษฐ์ครูพันธุ์ใหม่ เพื่อทดแทนอัตราเกษียณของครูกว่า ๑๘๐,๐๐๐ คน เพราะหากเราไม่สามารถวางระบบรากฐานการผลิตครูให้ถูกต้องและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้วงจรปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครูไม่มีวันจบสิ้น

สำหรับการผลิตครูพันธุ์ใหม่ในปีนี้จะได้จำนวน ๓,๐๐๐ อัตรา จากจำนวนทั้งสิ้น ๓ หมื่นอัตรา และต่อไปจะลดอัตราการจ้างครู เพราะอาชีพครูไม่สมควรกับการเป็นลูกจ้าง โดยเริ่มจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถบรรจุครูลูกจ้างให้เป็นพนักงานราชการในสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ๕๐ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้อนุมัติการปรับสถานภาพครูศูนย์การเรียนชุมชน (ครู ศรช.) เป็นพนักงานราชการ จำนวน ๘,๖๗๒ อัตรา เพื่อจูงใจคนเก่งเข้าเป็นครูมากขึ้น นอกจากการผลิตครูแล้ว ยังมีการพัฒนาครูทั้งระบบ โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาครูเป็นรายบุคคลด้วย พร้อมทั้งมีระบบใช้ครู โดยจัดโครงการคืนครูสู่ห้องเรียน เพื่อลดภารกิจที่ไม่จำเป็นของครูออกไป ให้ครูมีเวลาในห้องเรียนมากขึ้น โดยได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบค่าตอบแทน เงินเดือน เช่น การออกกฎ ก.ค.ศ.ให้ครูได้รับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ซึ่งผลของกฎหมายนี้จะทำให้ครูบรรจุใหม่ที่ทำงานแล้ว ๒ ปีได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓,๐๐๐ บาท

ไม่มีความคิดเห็น: