วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมมนาเชิงวิชาการผู้ปฏิบัติงานด้าน ICT ของ ศธ.

รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะการยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนคุณภาพทางการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังมีนโยบายด้านการศึกษา ๘ ข้อ ซึ่งมีจุดเน้น ๓ ด้าน ดังนี้

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งการดำเนินงาน ๖ เดือนที่ผ่านมา ศธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และวางระบบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างชัดเจน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ซึ่งได้นำเป้าหมาย ตัวชี้วัด มาดำเนินการ ขณะนี้มี Road Map แผนปฏิบัติการ และผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ครู ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ศธ.ได้วางแผนพัฒนาครูทั้งระบบ โดยเริ่มจากการผลิตครู ซึ่ง กนป.ได้อนุมัติให้ผลิตครูพันธุ์ใหม่ ๓๐,๐๐๐ อัตรา ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ศธ.จะผลิตครูพันธุ์ใหม่ให้ได้ ๒๐๐,๐๐๐ คน การพัฒนาครูทั้งระบบ ซึ่ง สพฐ.ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำการทดสอบสมรรถนะครู อบรมหลักสูตรของครู และของผู้บริหาร เพื่อนำไปสู่การสร้างครูต้นแบบ Master Teacher และให้แรงจูงใจ ในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สำหรับการใช้ครูนั้น ศธ. ได้คืนครูให้กับโรงเรียน โดยจ้างพนักงานธุรการและตำแหน่งอื่น เช่น บรรณารักษ์ มาแทนครูเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครูได้กลับสู่ห้องเรียน และ ศธ.ยังได้เพิ่มขวัญและกำลังใจครูด้วยการพัฒนาค่าตอบแทนครู ยกมาตรฐานวิชาชีพครู และแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบด้วย

ยกระดับการใช้ ICT เพื่อการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา คือ เพิ่มสัดส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๖ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๕๐ เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศร้อยละ ๓ ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ โดย ศธ.ได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เรื่องพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษา และบรรจุการจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษาไว้ในรายจ่ายงบประมาณประจำปี ๒๕๕๔ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ซึ่ง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยกองทุนมีงบประมาณเริ่มต้น ๕ ล้านบาท และได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุน โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน

รมว.ศธ.ได้ฝากให้ผู้ปฏิบัติงานด้าน ICT ขับเคลื่อนนโยบาย ๓ เรื่องให้เป็นรูปธรรม ดังนี้

ยกระดับพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา Ned Net โดยทุกองค์กรหลักของ ศธ.ต้องให้ความร่วมมือภายใต้โครงข่ายเดียวกัน เพื่อให้เกิดพลังด้านงบประมาณ ด้านการใช้ และด้านบุคลากร ขณะนี้ ศธ.มีข้อมูลอยู่แล้ว หากสามารถรวบรวมได้อย่างเป็นระบบ โครงข่ายก็จะมีความเข้มแข็งเพียงพอต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ

ศูนย์สารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (Education Information System) จัดให้มีข้อมูลนักเรียน สถานศึกษาที่เป็นระบบและเป็นปัจจุบัน ขณะนี้ ศธ.มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมข้อมูลของโรงเรียนเอกชน และต้องการให้มีข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพที่ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะใด ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการเรียนฟรี เพื่อไม่ให้มีการแอบอ้างว่า ข้อมูลผิดพลาด นักเรียนได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง รวมทั้งการคำนวณตัวเลขไม่ชัดเจนทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ฝากให้ช่วยคิดว่าจะทำให้เกิดระบบศูนย์กลางสารสนเทศในระดับชาติได้อย่างไร เพราะข้อมูลสารสนเทศกับโครงข่ายจะต้องมีความสัมพันธ์กัน จึงจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ยกระดับสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ ศธ.ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ขณะนี้ ศธ.มีศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ETV, มีรายการ Student Channel ออกอากาศทาง NBT, มีรายการ Teacher TV ที่จะขอออกอากาศทาง Thai TV หาก ศธ.สามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาว่า ต้องมีการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ จึงจำเป็นจะต้องยกระดับให้มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ ศธ. ซึ่งถ้าเป็นไปได้ในอนาคตต้องการให้เป็น free TV ต่อไป และขอให้ทุกคนช่วยคิดว่า จะสามารถนำรายการที่มีอยู่มารวมกันได้อย่างไร เพื่อให้เกิดพลังความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและเครื่องมือ นำไปสู่การยกระดับสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ ศธ.อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

ลูกเสือ 3D เตรียมปรับปรุงหลักสูตรและเร่งติดตามการขยายผลต่อสถานศึกษา
นายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมเพื่อปรับปรุงหลักสูตรและติดตามการใช้หลักสูตรลูกเสือ 3D ในสถานศึกษา ซึ่งในโอกาสนี้ประธานยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การจัดโครงการอบรมผู้กำกับลูกเสือ 3D เป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องมาจากนโยบายการสร้างความปรองดองและสร้างพลเมืองยุคใหม่ ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งกิจกรรมลูกเสือเป็นแม่แบบที่สำคัญและสามารถจับต้องได้ อีกทั้งมีการปฏิบัติที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะในการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความปรองดองและขับเคลื่อนเยาวชนเป็นพลเมืองยุคใหม่

ในโอกาสนี้ตัวแทนจากจากสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน สป. และสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา 1-12 และ กทม. ได้รายงานผลการจัดการอบรมผู้กำกับลูกเสือ 3D ในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ที่ผ่านมา ทั้งในกทม.และภูมิภาค ซึ่งภาพรวมของการจัดการอบรมอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งรูปแบบของการจัดกิจกรรม เนื้อหาหลักสูตร และการให้บริการของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งในที่ประชุมยังมีการรายงานอุปสรรคและปัญหาของการจัดกิจกรรมและเสนอแนะให้ที่ประชุมปรับปรุงหลักสูตรในการอบรม โดยจัดทำหลักสูตรของผู้กำกับลูกเสือและผู้เรียนให้มีความแตกต่างกัน พร้อมทั้งเสนอให้มีการติดตามการขยายผลต่อของผู้กำกับที่เข้ารับการอบรมในการนำไปปฏิบัติในโรงเรียน และสุดท้ายเสนอให้มีการปรับกิจกรรมการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับบริบทและความพร้อมของทางโรงเรียนได้

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีมติร่วมกัน เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรลูกเสือ 3D โดยจัดทำคู่มือสำหรับผู้กำกับลูกเสือและผู้เรียนให้เป็นหลักสูตรที่ให้มีความสมบูรณ์และสามารถนำไปปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมายได้จริง นอกจากนั้นยังเร่งติดตามผลการใช้หลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือ 3D ในสถานศึกษา โดยมีการออกแบบเครื่องมือในการติดตามผลในสถานศึกษา พร้อมทั้งกำหนดบทบาทผู้รับผิดชอบในการติดตามผลเพื่อรายงานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: