วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุม ศธ.ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า จุดเน้นเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้ขอให้องค์กรหลักและส่วนราชการในกำกับ ศธ. มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ให้เจริญก้าวหน้า และสนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างแท้จริง โดยควรทำให้ประชาชนเห็นว่า เด็กไทยจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้

• ข้อเสนอนโยบายการจัดสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง สกศ. ได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อศึกษาและออกแบบสมัชชาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับแผนการศึกษากลุ่มจังหวัด/จังหวัด โดยมีการทดลองนำร่องจัดสมัชชาการศึกษาใน ๘ จังหวัด ใน ๔ ภูมิภาคๆ ละ ๑ กลุ่มจังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ จ.พิษณุโลกและอุตรดิตถ์ ภาคกลางตอนบน ๑ จ.พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี และภาคใต้ชายแดน จ.สงขลาและสตูล ซึ่งผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดสมัชชาการศึกษา ควรเป็นรูปแบบที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและรวมพลังของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เรียกว่า ๓๓๓ หรือ ๓๓ “Triple Three Model” ซึ่งประกอบด้วย

- ๓ ตัวแรก หมายถึง ระดับจัดสมัชชาการศึกษา ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับชาติ
- ๓ ตัวที่สอง หมายถึง องค์ประกอบสมัชชาในแต่ละระดับ มี ๓ ภาค ได้แก่ ภาคองค์ความรู้ ภาคประชาชน และภาครัฐ ที่มีการสื่อสารแบบสองทาง
- ๓ ตัวที่สาม หมายถึง กิจกรรมของสมัชชาการศึกษาแต่ละระดับ มี ๓ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ การประชุมสมัชชา และการติดตามผลข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สกศ.นำผลการวิจัยครั้งนี้ร่วมกับข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้านการมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการกำหนดวิธีการและจัดรูปแบบการมีส่วนร่วมให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เสนอให้มีรูปแบบการมีหุ้นส่วนทางการศึกษา PPP รูปแบบกรรมการสถานศึกษาทุกระดับ และรูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบล นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังได้กล่าวถึงผลการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้คะแนนความพึงพอใจเกี่ยวกับความเชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้สำเร็จ ถึงร้อยละ ๖ ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ยังมีจุดอ่อนด้านการมีส่วนร่วม จึงขอให้ สกศ. ไปศึกษาการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

• รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง สกศ.ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ในการจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔ ภูมิภาค ๔ รุ่นๆ ละ ๖๐ คน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเทคโนโลยี ผลงานการสร้างสรรค์สื่อ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Book และนำสื่อที่ผลิตไปใช้กับนักเรียน ซึ่งมีรูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนด้วย สำหรับผลการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาเรื่องความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยี ตลอดถึงกระบวนการพัฒนาหนังสือ พบว่า ครูและบุคากรทางการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อ และกระบวนการพัฒนาหนังสือเพิ่มขึ้น มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและผลงานสร้างสรรค์สื่อ สามารถพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปภาพ สีสัน ดึงดูดความสนใจได้หลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา เห็นว่า การนำสื่อและเทคโนโลยีไปใช้ในสถานศึกษา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวย้ำเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายหลักของ ศธ.อยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้ สป.จัดการพัฒนา e-Learning เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และนำผลการอบรมครูไปร่วมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นนโยบายหลักต่อไป

• เป้าหมายและการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ และผลการดำเนินงาน ภาพความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอ ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอการพัฒนาสถานศึกษาให้ไปสู่สถานศึกษายุคใหม่ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๓๒,๐๐๐ โรงเรียน ประกอบด้วย ยกระดับเป็นโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ๗,๐๐๐ โรงเรียน ส่วนอีก ๒๒,๐๐๐ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับโรงเรียนดีประจำตำบล ได้มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ในรูปแบบ ๗๗๗ คือ

- ภายใน ๔ เดือนแรก ดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีเป้าหมายพัฒนานักเรียนที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน สถานศึกษาสะอาด มีบริเวณโดยรอบร่มรื่น สวยงาม มีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน มีความปลอดภัย ปลอดสารเสพติด และเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนา
- เดือนต่อมาจะต้องดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีห้องสมุด ๓ ดี มีห้องปฏิบัติการ มีศูนย์การเรียนรู้อาชีพ มีศูนย์กีฬาชุมชน มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ มีครูที่ใช้แหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการบริหารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
- อีก ๔ เดือนต่อไป ต้องการให้โรงเรียนดีประจำตำบลมี ๗ อย่าง คือ มีชื่อเสียงดี มีนักเรียนใฝ่รู้ ปลูกฝังให้นักเรียนใฝ่เรียน และใฝ่ดี มีความเป็นไทย สุขภาพดี และรักการงานอาชีพ

รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.จะประกาศการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเรื่องสถานศึกษายุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มอบให้ สพฐ.ดำเนินการ ๓ เรื่อง ได้แก่ ๑.พัฒนารูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบลให้สนองตอบต่อการเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีทั้งระดับปฐมวัย มีการเรียนร่วม และเรียนปกติที่มีความพร้อมอยู่ในโรงเรียนเดียว ๒.มุ่งเน้นให้โรงเรียนดีประจำตำบลมีบุคลากรที่มีความสามารถในการสอนทุกสาระการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับโรงเรียนเครือข่าย หรือโรงเรียนพี่เลี้ยงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อต่อยอดความเป็นเลิศให้กับนักเรียน และ ๓.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กศน.ตำบล เป็นการสร้างฐานการเรียนรู้ในระดับล่างที่มีความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังได้เสนอรูปแบบการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ ที่สังกัด สพฐ. ๕๐๐ โรงเรียน และสังกัด สช. ๕๐๐ โรงเรียน และโรงเรียนมุ่งสู่มาตรฐานสากล.

ไม่มีความคิดเห็น: