วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศธ.ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

รมว.ศธ. กล่าวว่า พลเมืองยุคใหม่ต้องมีความเป็นสากลและมีความเป็นไทย โดยให้เด็กนักเรียนมีความเก่ง ความดี และมีความสุขควบคู่กันไปด้วย การที่จะทำให้เด็กไทยเป็นคนเก่ง จะต้องพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่สามารถแข่งขันในประชาคมอาเซียนได้ การให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาที่สอง หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่สำคัญและเห็นว่ามีความจำเป็น

ศธ.จึงได้เตรียมการที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยการยกระดับมาตรฐานสถานศึกษาไปสู่ระดับสากล เปิดโครงการ English Program เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และมีความจำเป็นที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น

หาก ศธ.ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านครู บุคลากร ตลอดจนงบประมาณ ก็จะประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ซึ่งต้องมีมาตรการรองรับการประกาศดังกล่าว คือ ๑) มีครูต่างประเทศมาสอน ๒) ต้องมีครูที่ตรงกับวิชาเอกสาขาภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ๓) ต้องมีสื่อและเทคโนโลยีที่จะมาช่วยสอนภาษาอังกฤษอยู่ในระดับสากล เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาพลเมืองยุคใหม่ให้มีความสามารถที่จะสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน ประชาคมอาเซียน และในสังคมโลกได้ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นวันที่ ศธ.จะประกาศจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียน ก็จะถือโอกาสประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นักเรียนในโรงเรียนมาตรฐานสากล ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อย่างน้อยต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำ คือ สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ในส่วนแรกที่สำคัญคือ ครูต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ศธ.ได้มีการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในเบื้องต้นแล้ว มีการหารือร่วมกันว่าจะนำครูจากสหรัฐอเมริกามาสอน ซึ่ง ศธ.จะสำรวจถึงความต้องการครูสอนภาษาอังกฤษว่ามีมากน้อยเพียงใด และต้องมาดูในเรื่องงบประมาณด้วย ส่วนที่สอง อาจจะมีหน่วยงานพิเศษที่มารองรับในเรื่องนี้ โดยโรงเรียนสามารถใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือการสนับสนุนจากผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมได้ อย่างน้อยคือการผลักดันโรงเรียนเข้าสู่มาตรฐานสากล ลำดับรองลงมาคือการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ควรมีครูจบจากวิชาเอกโดยตรง และระดับประถมศึกษาก็ควรเพิ่มเติมจำนวนครูสอนภาษาอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องยอมรับว่าเยาวชนสามารถที่จะรับรู้การสื่อสารที่เป็นสากล ศธ.จึงได้มอบนโยบายให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากขึ้นต่อไป.

ปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามแผน
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยในรายงานปีการศึกษาเฉลี่ยของประเทศไทย ปี ๒๕๕๒ ซึ่งเพิ่งจัดทำรายงานเสร็จสิ้นว่าโดยภาพรวมแล้วพบว่าประชากรในวัยทำงานระหว่างช่วงอายุ ๑๕-๕๙ ปี มีการศึกษาเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่ตัวเลขจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยโดยรวมของประชากรไทย ผู้มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไปก็เพิ่มสูงขึ้น แต่พิเคราะห์แล้วไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔)

เมื่อกล่าวถึงจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจเมื่อสี่ปีก่อนกับตัวเลขปัจจุบัน คือเมื่อปี ๒๕๔๘ ประชากรในวัยทำงานสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีเพียงร้อยละ ๑๘.๓ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐.๕ ในปัจจุบัน ขณะที่แรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๕.๓ เป็นร้อยละ ๑๘.๖ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงานที่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีจำนวนลดลง เช่น แรงงานที่สำเร็จชั้นประถมศึกษาจากเดิมที่มีจำนวนถึงร้อยละ ๔๖.๕ ในปี ๒๕๔๘ ลดลงเหลือร้อยละ ๔๓.๒ ในปีที่ผ่านมา

ส่วนจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยซึ่งเป็นการสำรวจในวงกว้างไม่จำกัดแต่เฉพาะประชากรวัยแรงงานเท่านั้น หากแต่สำรวจจากประชากรที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป พบว่าในขณะที่เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) ตั้งความหวังกำหนดเป้าหมายให้คนไทยมีการศึกษาเฉลี่ย ๑๐ ปี ตัวเลขจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยในปี ๒๕๕๒ อยู่ที่ ๘.๑ ปี และมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยขึ้นเพียงร้อยละ ๐.๑ ต่อปี ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าประเทศของเราคงไม่สามารถเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรได้ตามเป้าหมาย

ถ้ากล่าวเฉพาะปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยทำงาน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับเดียวกันตั้งเป้าหมายไว้ที่ ๑๒ ปี จากการสำรวจพบว่าในปี ๒๕๕๒ ประชากรในวัยแรงงานของเรามีการศึกษาเฉลี่ย ๘.๙ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีที่จัดอยู่ในปัจจุบัน

“ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้ประชากรในวัยทำงานและประชากรโดยทั่วไปมีจำนวน ปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น นอกจากการจัดการศึกษาในระบบอย่างมีคุณภาพแล้ว เราจะต้องเร่งจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สามารถสนองต่อวิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ถ้าทำเช่นนี้ได้ผมเชื่อว่าจะส่งผลให้ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยสูงขึ้น” เลขาธิการ สกศ.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: