วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่าน ๓ ยุทธศาสตร์ คือ ๑) การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่าน ๒) การพัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน ๓) การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน โดยมี ๖ มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ ๑ ด้านส่งเสริมการสร้างนโยบายและการมีส่วนร่วม

มาตรการที่ ๒ การสร้างความตระหนักรู้การอ่าน

มาตรการที่ ๓ สร้างความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการอ่าน

มาตรการที่ ๔ การสร้างบุคลากรเพื่อส่งเสริมการอ่าน

มาตรการที่ ๕ การบริหารจัดการทรัพยากรการอ่าน

มาตรการที่ ๖ การวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการอ่าน


ทั้งนี้ จะมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ได้แก่

- เป้าหมายที่ ๑ ประชากรวัยแรงงานที่เป็นผู้รู้หนังสือในระดับใช้งานได้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากร้อยละ ๙๗ เป็นร้อยละ ๙๙

- เป้าหมายที่ ๒ ประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น จากร้อยละ ๙๒.๖๔ เป็นร้อยละ ๙๕

- เป้าหมายที่ ๓ ค่าเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มขึ้น จากปีละ ๕ เล่มต่อคน เป็นปีละ ๑๐ เล่มต่อคน

- เป้าหมายที่ ๔ แหล่งการอ่านได้รับการพัฒนา และเพิ่มจำนวนให้สามารถจัดบริการได้ครอบคลุมทุกตำบล ชุมชน อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ

- เป้าหมายที่ ๕ การสร้างภาคีเครือข่ายการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
รมว.ศธ.ได้มอบหมาย ให้ กศน.ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อนำมาตรการ เป้าหมายและตัวชี้วัด ไปดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมการอ่าน ให้เกิดผลอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนงานและงบประมาณที่จะดำเนินการส่งเสริมการอ่าน โดยงบประมาณ ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ มีทั้งหมด ๕ แผนงาน คือ

๑. รณรงค์สร้างนิสัยรักการอ่าน งบประมาณ ๒๕๗ ล้านบาท
๒. เพิ่มสมรรถนะการอ่าน งบประมาณ ๖๒๐ ล้านบาท
๓. สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่าน งบประมาณ ๕๕ ล้านบาท
๔. เครือข่ายความร่วมมือการอ่าน งบประมาณ ๗๖ ล้านบาท
๕. วิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน งบประมาณ ๔๔ ล้านบาท

รวมงบประมาณทั้งหมดที่จะใช้ในแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ในการรณรงค์และการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท โดยให้ กศน. ไปประสานงานกับคณะทำงานชุดต่างๆ และปรับแผนงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำตัวเลขแผนงานที่เป็นเชิงยุทธศาสตร์มาดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้เสนอยุทธศาตร์การส่งเสริมการอ่านและแผนปฏิบัติการ รายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีส่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวและผลักดันให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป.

การประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการศึกษา

นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการศึกษา โดยมีตัวแทนจากองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องปฏิญญาอาเซียน ณ ห้องประชุมจันทรเกษม

ฝ่ายเลขาได้รายงานในที่ประชุม ถึงเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินงานตามนโยบายปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา ของ กระทรวงศึกษาธิการ 5 ข้อ
นโยบายแรก การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติ ที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

2. การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสม ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะความชำนาญการที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชนรวมทั้งการพิจารณาผลิตกำลังคน

3. การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์อาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน

4.การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่าง ๆ

5. การพัฒนาเยาวชน เพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

นายสมบัติ กล่าวว่า อยากให้ทุกองค์กรยึดนโยบาย 5 ข้อนี้เป็นหลักในการทำงาน โดยจะต้องตีโจทย์ให้ชัด ว่าเป้าหมายจริง ๆ คืออะไรโดยจะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีแผนการทำงาน ที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไร นอกจากนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศยังให้ความสำคัญในด้านการศึกษาต้องการที่ส่งเสริมมุ่งเน้นให้เยาวชน คนไทยทุกคนได้มีความรู้ในเรื่องอาเซียน โดยมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรที่มีเนื้อหาของอาเซียน รวมไปถึงการร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องการส่งครูมาสอนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน รวมถึงการเรียนประวัติศาสตร์ ที่ทุกชาติในอาเซียนเรียนแล้วจะไม่ทำให้รู้สึกแตกแยก

ไม่มีความคิดเห็น: