วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศธ.ประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน จุดเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษาไทย

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๖๑) มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ๔ ใหม่ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และระบบบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งหวังพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข เป็นคุณภาพของเด็กไทยในอนาคต เป็นผู้ที่มีความสามารถ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ก้าวไกลสู่สากล และมีความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์

ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ต้องอาศัยการดำเนินการพัฒนาในกระบวนการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันทั้งกระบวนการด้านหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การวัดและการประเมินผล จากการติดตามและการประเมินผลหลักสูตรการใช้หลักสูตรพบว่า มีจุดอ่อนบางประการที่ต้องปรับปรุง เพื่อนำไปพัฒนาผู้เรียน ทั้งในด้านความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การกำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนครั้งนี้ จึงเป็นแนวทางการชี้แจงให้ครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปกครอง ประชาชน เกิดความเข้าใจและมีส่วนในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน จุดเน้นที่กำหนดครั้งนี้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย เนื่องจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งผู้เรียนมีระดับพัฒนาการที่แตกต่างกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องขับเคลื่อนการเรียนรู้นั้นให้สอดคล้องต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความเป็นพลเมืองที่มีความสามารถเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

สำหรับด้านคุณลักษณะของผู้เรียนมีการกำหนดจุดเน้นเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีคุณลักษณะของการเป็นพลเมืองที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลาง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ และมีคุณลักษณะนิสัยตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ใฝ่ดี ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน การนำจุดเน้นดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ต้องมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน โรงเรียนต้องมีการจัดโครงสร้างเวลาเรียนที่ชัดเจน จัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นการปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของเวลาเรียน และมีการใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย การแสวงหาความร่วมมือกับชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น มาร่วมในการจัดการเรียนรู้

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ศธ.มีความมั่นใจในการประกาศการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนครั้งนี้ เป็นการกำหนดแผนที่จะเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากระยะที่ ๑ คือ การสืบค้น วิเคราะห์ การศึกษาข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคล จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ ระยะที่ ๒ และระยะที่ ๓ เป็นการบ่มเพาะประสบการณ์ สานต่อองค์ความรู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ครูมีการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ระยะที่ ๔ และระยะที่ ๕ นำสู่วิถีคุณภาพและมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ ภายในปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งจะมีกระบวนการสร้างนวัตกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำสู่การปรับวิถีการเรียนรู้ในห้องเรียนสู่วัฒนธรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โดยผ่านการเรียนรู้ภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ศธ. ยังมีจุดมุ่งเน้นการเสริมต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา การพัฒนาคุณภาพของครู และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อรองรับการดำเนินการพัฒนาจุดเน้นผู้เรียน นำไปสู่จุดเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษาไทย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวนโยบายในการขับเคลื่อนจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้บรรลุการศึกษาในทศวรรษที่สอง ว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในเรื่องคุณภาพของคน โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ.๒๕๖๑ เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย ที่จะนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และการมีสังคมที่สงบสุข ทุกคนมีความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้มีการขับเคลื่อน และมีการประกาศวิสัยทัศน์ มีความต่อเนื่องมาจากการปฏิรูปการศึกษาในช่วง ๑๐ ปีแรก อีกทั้งมีการเพิ่มเติมเป้าหมาย รวมถึงมาตรการที่มีความจำเป็นในปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบ

การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาในช่วง ๑๐ ปีแรกมีทั้งผลสำเร็จ ข้อจำกัด และความล้มเหลวอีก ทั้งสูญเสียเวลา ทรัพยากรในเรื่องของโครงการ การบริหารจัดการ รวมทั้งการมองข้ามเรื่องที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของผู้เรียน การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จึงต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะมุ่งไปสู่เรื่องคุณภาพของผู้เรียน เพราะถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นเป้าหมายว่า จะต้องสร้างคนให้มีความสามารถ มีคุณธรรม มีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทยที่ส่งผลให้ประเทศมีสังคม มีเศรษฐกิจ และมีการเมืองที่ดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่สิ่งที่ต้องระมัดมากที่สุดคือ ต้องไม่ให้การศึกษาแยกตัวออกมาจากสังคมหรือจากชีวิตจริง เหมือนระบบการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะความรู้ ความสามารถด้านทักษะในการประกอบอาชีพ ที่ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการว่างงาน การละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของคนหนุ่มสาว จนนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนั้น จะต้องผลักดันให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในเรื่องของภาษาต่างประเทศ เพราะมีการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างประเทศมากขึ้นแล้ว แหล่งความรู้และแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ โลกของอินเทอร์เน็ต เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ ของแหล่งข้อมูลดังกล่าว เป็นภาษาต่างประเทศ และเกือบร้อยละ ๙๐ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ทักษะตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการในประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกันจะต้องมีการผลักดันและให้ความสำคัญในเรื่องของการเรียนรู้จากกิจกรรม หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจุดเน้นเรื่องของคุณภาพผู้เรียนในช่วงแรกของการปฏิรูปการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลังจากนั้นจะต้องมีการประเมินผลเพื่อจะได้ทราบถึงการดำเนินการขับเคลื่อนทั้งหมดว่าได้เกิดขึ้นจริง และสามารถรับรู้ถึงปัญหา ข้อจำกัดต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการและปรับปรุงคุณภาพของผู้เรียน แต่การวัดผลและการประเมินผลจะต้องมีรูปแบบที่ง่าย ตรงกับเป้าหมาย และไม่เป็นภาระต่อผู้ประเมิน

ในอนาคตคนไทยจะต้องมีคุณภาพด้านการศึกษาที่มาจากพื้นฐานของระบบการศึกษา และสามารถก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ ได้ และหากทุกภาคส่วนได้ร่วมมือและมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างจริงจังแล้ว จะทำให้สิ่งที่กำหนดไว้ในวันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ในระยะเวลาของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในทศวรรษที่สองอย่างแน่นอน.

ไม่มีความคิดเห็น: