วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลกระทบของการเรียนการสอนสองภาษา

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมวิชาการเรื่อง ผลกระทบของการจัดการเรียนการสอนสองภาษา (EP Program) และหลักสูตรนานาชาติต่อเด็กไทย แนะเด็กไทยที่เรียนหลักสูตรสองภาษาควรเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยพร้อมกิจกรรมส่งเสริมความเป็นไทยเพื่อลดผลกระทบด้านค่านิยมและวัฒนธรรมของเด็กไทย หวั่นการเปิดเสรีทางการศึกษาผู้บริหารเจ้าของโรงเรียนชาวต่างชาติอาจไม่ให้ความสำคัญเรื่องการปลูกฝังค่านิยมและความเป็นไทย

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดการสอนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นในโรงเรียนมัธยมในหลักสูตรสองภาษา และร.ร.นานาชาติ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถูกตั้งคำถามจากรัฐสภาว่าการสอนภาษาอังกฤษส่งผลกระทบต่อมิติความเป็นไทยของเด็กไทยหรือไม่สกศ.จึงต้องระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมคนไทยเข้าสู่ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจะมีการใช้ภาษาอังกฤษติดต่อสื่อสารและการทำงาน

ด้านนางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติเปิดสอนกระจายอยู่ทุกภูมิภาค จำนวน 122 โรง มีนักเรียนประมาณ 30,000 คน การจัดการเรียนการสอนมีทั้งหลักสูตรจากต่างประเทศ ส่วนข้อห่วงใยด้านวัฒนธรรมไทยนั้นมีแนวทางแก้ไขโดยหากเป็นเด็กไทยที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติจะต้องเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย 5 คาบต่อสัปดาห์ ส่วนนักเรียนต่างชาติเรียน 1 คาบต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน โรงเรียนต้องจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นไทย รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ ทั้งนี้ หากผู้บริหารหรือเจ้าของโรงเรียนนานาชาติเป็นคนไทยจะให้ความสำคัญกับการสร้างเด็กไทยให้มีหัวใจไทยแต่คิดแบบสากล โดยปลูกฝังเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมไทย แต่หากมีการเปิดเสรีทางการศึกษาแล้ว กฎหมายเปิดช่องให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ จึงทำให้รู้สึกเป็นห่วงว่าผู้บริหารต่างชาติจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรระวังในจุดนี้ด้วย

ด้านผู้แทนโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร EP กล่าวว่า หลักสูตร EP คือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพียงแต่ใช้สื่อการสอนและภาษาเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาภาษาไทย ดังนั้น จะไม่มีผลกระทบเรื่องวัฒนธรรมไทย ทั้งครูต่างประเทศที่จ้างมาก็พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น เข้าร่วมพิธีไหว้ครู เป็นครูที่ปรึกษา แต่ปัญหาของโรงเรียนคือ การจ้างครูต่างประเทศนั้น กระทรวงการคลังกำหนดเพดานไว้ หากโรงเรียนต้องการครูที่เก่งมีคุณภาพ จะต้องจ้างในอัตราที่สูงกว่าที่กระทรวงคลังกำหนด โดยต้องหารายได้มาสมทบเอง จึงต้องการให้กระทรวงคลังขยายเพดาน เพื่อที่โรงเรียนจะได้จ้างครูที่เก่งและมีคุณภาพได้

ด้านนายวรรณสาร วรกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ กล่าวว่าโรงเรียนนานาชาติและหลักสูตร EP เป็นอีกทางเลือกของการศึกษาไทย ซึ่งรัฐบาลต้องยอมรับว่า การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้จะต้องมีการลงทุน ส่วนโรงเรียนที่มีศักยภาพอยู่แล้วรัฐควรปล่อยให้โรงเรียนเหล่านั้นบริหารจัดการด้วยตนเอง ไม่ควรควบคุม ส่วนโรงเรียนนานาชาติหรือหลักสูตร EP ที่จ้างครูต่างชาติ ควรตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สอน โดยเฉพาะการจ้างฝรั่งที่อาศัยอยู่ในประเทศจะพบว่าจำนวนมากที่ใช้วุฒิปลอม แต่หากจ้างโดยตรงจากต่างประเทศเลยจะไม่ค่อยพบปัญหา

บทเรียนมัลติมีเดีย

วิฑูรย์ นพปรางค์ หรือครูอ้วน ครูสอนภาษาต่างประเทศ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง อธิบายความสำคัญของการใช้สื่อมัลติมีเดียกับการเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ซึ่งนับเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็กยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

ครูอ้วน ใช้สื่อการเรียนรู้ไอซีที เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรมอิงลิช ดิสคัฟเวอรี่ผ่านระบบแลน บอกเล่าว่า ส่วนตัวเป็นครูที่ชอบใช้สื่อประยุกต์กับการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่หลังจากที่มีสื่อการเรียนรู้ผ่านไอซีที หรือสื่อมัลติมีเดีย นับเป็นตัวช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียนได้ดีมาก ซึ่งเด็กให้ความสนใจ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับที่น่าพอใจ ตลอดจนครูได้ทบทวนความรู้ภาษาอังกฤษไปในตัวด้วย

"ก่อนใช้สื่อการเรียนรู้มัลติมีเดีย ครูสังเกตหลายๆ ครั้งนะว่า เวลานำเสนองาน หรือจำลองสถานการณ์ในรายวิชาภาษาอังกฤษ เด็กจะเอื่อยเฉื่อยมาก แต่หลังจากที่ได้นำบทเรียนมัลติมีเดียมาประกอบกับการเรียนการสอน เด็กมีรูปแบบการนำเสนองานที่น่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง หรือท่าทางประกอบการสื่อสาร เรียกง่ายๆ ว่า เด็กใช้ภาษาได้ในระดับที่ดีขึ้น เพราะเห็นภาพที่ชัดและเข้าใจง่าย" ครูอ้วนเล่า

แต่กระนั้น ถึงแม้ระบบแลน ที่โรงเรียนจะมีอุปสรรค เช่น ช้าไปบ้าง ทำให้เด็กส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึง แต่ครูอ้วนใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการเปิดฉายสื่อมัลติมีเดียผ่านเครื่องโปรเจกเตอร์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหลังจากเตรียมบทเรียนให้เด็กตามหัวข้อที่กำหนดแล้ว ครูอ้วนจะให้เด็กกลับไปคิดงานเพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่อไป

"บทเรียนมัลติมีเดีย ช่วยทั้งครู และนักเรียนได้เยอะมาก โดยเฉพาะครู ทำให้การสอนง่ายขึ้น เพราะสามารถคิดบทเรียน หรือใช้เนื้อหาในตัวโปรแกรมสอนเด็กให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบทเรียน ซึ่งเด็กได้ คุณครูก็ได้ทบทวนความรู้ไปด้วย" ครูอ้วนกล่าว

ขณะที่ อ.สุดา ใบแย้ม ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาด้านภาษาอังกฤษ กล่าวว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็ก เป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นสื่อมิติใหม่อย่างสื่อมัลติมีเดียจะเป็นตัวช่วยดึงเด็กให้เข้าถึง และเข้าใจกับบทเรียนภาษาอังกฤษได้ง่าย โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากเด็กจะได้เรื่องภาษาแล้ว เด็กยังได้ในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตลอดจนความสามารถในการใช้เทคโนโยลีเพื่อการสื่อสารด้วย

"บทเรียนมัลติมีเดียที่ดี ต้องประกอบด้วย 4 I ได้แก่ 1.Information (ข้อมูล/เนื้อหา) 2.Individualization (เรียนได้เป็นรายบุคคล) 3.Interaction (มีการโต้ตอบกับผู้เรียน) และตัวที่ 4. Immediate Feedback (ทราบผลการเรียนได้ทันที) เมื่อมีครบทั้ง 4 อย่าง เชื่อได้เลยว่าเด็กจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ สนุก และเรียนอย่างได้ผล" ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาด้านภาษาอังกฤษกล่าว

อย่างไรก็ดี การใช้บทเรียนมัลติมีเดียของครูให้ได้ผลนั้น นอกจากจะต้องมีตัวรองรับอย่างซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์แล้ว อ.สุดาบอกว่า ครูผู้สอนเอง ต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ประกอบกับมีเทคนิคในเตรียมการสอน และจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพด้วยไม่ว่าจะก่อนใช้ ขณะใช้ และหลังใช้ โดยครูต้องเตรียมบทเรียน ตั้งแต่หัวข้อการเรียน คำศัพท์ที่เด็กๆ จะเข้าไปเจอในตัวสื่อ และหลังจากเด็กเรียนรู้แล้ว ครูต้องมีกระบวนการเพื่อเป็นตัวชี้วัดว่าเด็กสามารถเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมาด้วย สนใจสอบถามได้ที่ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม

ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: