วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ (e-Learning) “เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกคน”

รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่ได้มอบหมายเมื่อเข้ามาบริหารงาน ศธ. เมื่อ ๘ เดือนที่ผ่านมา ประการที่ ๑ คือมุ่งเน้นการชูธงในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประการที่ ๒ คือการพัฒนาครู และประการที่ ๓ คือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ทั้ง ๓ เรื่องนี้ เป็นจุดเน้นที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะในช่วง ๖ เดือนต่อจากนี้ ศธ.ได้ประกาศยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ ที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ ศธ.ในการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลอย่างจริงจังตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ คือ การนำไปสู่พลเมืองยุคใหม่ในอนาคต
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ ที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ มีดังนี้

๑. การจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยให้ กศน.ตำบล เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในฐานล่างที่สุด โดยต้องมี กศน.ตำบล โรงเรียนดีประจำตำบล ICT ตำบล โรงพยาบาลตำบล สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ การจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ต้องดำเนินการให้สอดรับกับเป้าหมายที่เกิดขึ้น คือ สามารถรองรับการจัดการศึกษานอกระบบ ๑.๕ ล้านคนของนักเรียนที่พลาดโอกาสทางการเรียนในระบบ ต้องจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รองรับคนวัยทำงาน ๓๐ ล้านคน ให้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาทักษะอาชีพ นอกจากนี้ ต้องใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาตลอดชีวิต และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่ง กศน.ตำบล ต้องเป็นภาคีเครือข่ายในการที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

๒. คุณภาพผู้เรียน เน้นเรื่องสำคัญ คือ การปรับปรุงหลักสูตร วิธีการสอนและการประเมินผล เพื่อปรับปรุงโครงสร้างเวลาในการเรียนที่เน้นเนื้อหาสาระการเรียน นำไปสู่การปฏิบัติจริง และเป็นเบ้าหลอมให้เยาวชนเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความเป็นสากล และมีความเป็นพลเมืองควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งเน้นความเป็นสากล คือ เรื่องภาษาอังกฤษ ที่ได้ประกาศให้เป็นภาษาที่สอง แต่ความจริงภาษาอังกฤษต้องเป็นภาษาในการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารที่รองรับการเข้าร่วมกับประชาคมอาเซียนใน ๕ ปีข้างหน้า และเป็นการสื่อสารที่สอดรับกับการใช้อินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓. คุณภาพของสถานศึกษา ซึ่งเป็นสถานศึกษายุคใหม่ที่รองรับความเป็นเลิศอย่างน้อย ๑,๕๐๐ โรง คือ สถานศึกษานานาชาติ จำนวน ๕๐๐ โรง สถานศึกษาเอกชน จำนวน ๕๐๐ โรง ที่ไปสู่มาตรฐานสากล และสถานศึกษาของ สพฐ. จำนวน ๕๐๐ โรง ทั้งหมดนี้จะจัดการเรียนการสอนที่เป็น World Class Standard การเรียนการสอน English Program รองรับนักเรียนที่นำไปสู่การพัฒนา การเข้าสู่การแข่งขันกับสังคมโลก และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา (Education Hub)

๔. การจัดการศึกษาฟรี ๑๕ ปี เป็นคุณภาพที่รองรับการสร้างโอกาสให้กับนักเรียนทุกคน ทั้งในระบบและนอกระบบต้องฟรีอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญคือเป็นครั้งแรกที่ ศธ.จะนำงบประมาณ ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ในโครงการเรียนฟรีลงไปสู่สถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษา ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษา ได้มีส่วนร่วมช่วยกันนำเงินงบประมาณไปสะท้อนคุณภาพผู้เรียน

๕. เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษา โลกของการศึกษาในอนาคตมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ที่สำคัญคือเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาตลอดชีวิต รวมถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่ง กทช.ได้กำหนดชัดเจนในมาตราที่ ๔๗ ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมในเรื่องของกิจการโทรคมนาคมต้องมาสมทบให้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาร้อยละ ๔ ทุกปี

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประเดิมให้แล้วจำนวน ๕ ล้านบาท การจัดการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ จึงได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ขณะนี้ได้จัดตั้งงบประมาณไว้ที่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง หลังจากตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแล้ว ก็จะรวมทั้งหมดไว้ที่เดียวกัน ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก ICT ภายใต้กลยุทธ์ 3N อย่างทั่วถึงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและต่อเนื่องต่อไป

๖. คุณภาพครู ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งตรงกับวันครู จะประกาศการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู หรือที่เรียกว่า กองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อเติมเต็มศักยภาพของครูให้สามารถพัฒนาตนเองตลอดเวลา สิ่งที่ต้องสร้างต่อไป คือ การสร้างแรงจูงใจ เพื่อยกระดับและมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งต้องดูแลทั้งระบบ ได้แก่ การผลิต การพัฒนา การจัดระบบค่าตอบแทนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ รวมถึงการเลื่อนวิทยฐานะ โดยเฉพาะครูที่มีความสามารถเป็นพิเศษ

รมว.ศธ ย้ำว่าครูทุกคนต้องพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะด้านเจตคติที่ดีในการใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างแท้จริง มีความอดทนและพร้อมเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีและสารสนเทศที่มีความก้าวหน้า เป็นการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุด สำหรับปัญหาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมนโยบายการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ ทั้งในระดับผู้บริหาร สถานศึกษา และครูสายผู้สอน ให้มีโอกาสใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนต่อไป.

๑๐๘ หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่กำลังมีการเจริญเติบโตทั้งในด้านร่างกาย และมีพัฒนาการด้านสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เติมเต็มความสามารถในด้านต่างๆ และเป็นระยะการพัฒนาทางสมองที่สำคัญ จึงเป็นช่วงที่ดีที่จะได้ปลูกฝังให้เด็กมีความพร้อมที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ในการพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้ควรจะให้มีการพัฒนาทางด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา สร้างความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน

รัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับเด็กในปฐมวัยเป็นพิเศษ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเด็กปฐมวัยในระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี รมว.ศธ. เป็นรองประธาน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาเด็กไทยในวัย ๐-๖ ปี อย่างเข้มข้น ในปีนี้ ครม.ยังได้มีมติให้เด็กไทยได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ จึงกำหนดให้เกลือ น้ำปลา และซอส ที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องจะต้องมีสารไอโอดีนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กไทยได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นคณะกรรมการเด็กปฐมวัยยังได้มีมติในการส่งเสริมให้มีการเปิดศูนย์เด็กปฐมวัยให้ได้ ๒๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ในระยะเริ่มต้น ศธ.ได้มีการพัฒนาระดับของการเรียนของเด็กปฐมวัยในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กในด้านต่างๆ ให้มีครูทางด้านจิตวิทยาเด็กเพื่อเข้ามาพัฒนาเด็กในระดับนี้ให้ได้มีการพัฒนาอย่างรอบด้านต่อไป
เป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองคือ พลเมืองไทย เก่ง ดี และมีความสุข ใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความเป็นสากล มีความเป็นพลเมืองดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นที่เด็กปฐมวัย เพราะเด็กวัยนี้พร้อมที่จะเปิดหน้าต่างแห่งการเรียนรู้ การส่งเสริมนิสัยใฝ่รู้ของเด็กในวัยนี้จะต้องร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ พ่อ-แม่ ต้องอ่านหนังสือเด็กให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้ติดตัวต่อไปในอนาคต และให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ในทางยุทธศาสตร์ของ ศธ.นั้น ได้มีการจัดตั้ง กศน.ตำบล เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระดับฐานล่างของสังคม ที่จะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ของชุมชนตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต และคนในวัยทำงาน ๓๐ ล้านคนต้องได้รับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังจะมีการส่งเสริมให้มีอาสาสมัครรักการอ่านให้หน่วยงานต่างๆ มีมุมสำหรับการอ่านหนังสือเพื่อให้มีการอ่านอย่างทั่วถึง

ในยุทธศาสตร์นั้น ศธ. มีการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการรักการอ่าน โดยจะเป็นไปตามนโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ คือ คุณภาพการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน คุณภาพสถานศึกษายุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ คุณภาพครู และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการรักการอ่าน โดยให้มีการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ที่ซื้อหนังสือและสื่อ เพื่อส่งเสริมการอ่านบริจาคให้กับสถานศึกษาของราชการ และเอกชน หรือห้องสมุดขององค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักการอ่าน นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการอ่านมากขึ้น

โดยเฉพาะมาตรการลดต้นทุนแก่ผู้ผลิตหนังสือ ๒ มาตรการ คือ ๑) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือกระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือ ๒) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์หรือหนังสือ จากมาตรการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมนโยบายทศวรรษแห่งการอ่าน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริงต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: