วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประชุมผู้ประสานงานแห่งชาติด้านการศึกษาเพื่อปวงชนระดับภูมิภาค ครั้งที่ 11

สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมผู้ประสานงานแห่งชาติด้านการศึกษาเพื่อปวงชนระดับภูมิภาค ครั้งที่ 11 (11th Regional Meeting of National EFA Coordinators) ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2553 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของ แต่ละประเทศในการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาการศึกษาในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชายขอบ และกลุ่มที่ห่างไกลการศึกษา พิจารณาประเด็นการจัดสรรงบประมาณการศึกษาในสภาวะวิกฤตทางการเงินของโลก รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการประชุมดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีในการพิจารณาประเด็นวาระการศึกษาต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ทั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ประสานงานด้านการศึกษาเพื่อปวงชนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียตะวันตก ผู้แทนประเทศกลุ่มเอเชียกลางและแปซิฟิก ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบด้านการประสานงานระดับชาติ คณะทำงานด้านการศึกษาเพื่อปวงชน ผู้แทนยูเนสโก ยูนิเซฟ รวมทั้งนักวิชาการศึกษาจากหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องจาก 25 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 110 คน ซึ่งรวมถึงคณะผู้แทนไทย จำนวน 17 คน

การประชุม AMFIE 2010
นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย กล่าวนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาไทยโดยใช้ระบบ ICT ในการประชุม Asia Paific Ministrail Forum on ICT in Education 2010 : AMFIE 2010 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ระหว่างปี 2001-2010 ซึ่งได้กำหนดกรอบการพัฒนาประเทศไว้ 5 ด้านคือ E-Society E-Education E-Government E-Commerce และ E-Industry นอกจากนั้นยังกำหนดการพัฒนาทางด้าน ICT เป็น 2 ช่วง คือ แผนการพัฒนาช่วงแรกในปี 2002 – 2006 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจและการแข่งขันของอุตสาหกรรม รวมไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการนำระบบ ICT ไปใช้ และแผนการพัฒนาช่วงที่2 ตั้งแต่ปี 2009-2013 โดยให้ความสำคัญไปที่การนำระบบ ICT มาพัฒนาให้สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการเพิ่มจำนวนประชากรในการเข้าถึง ICT เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างการบริหารการจัดการที่ดี นอกจากนั้นและแผนการพัฒนาช่วงที่2 ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการเพิ่มบุคลากรทางด้าน ICT ให้มีคุณภาพ โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของผู้เรียนและผู้สอน ทั้งครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มคนทั่วไปที่ใช้งานระบบ ICT

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายของการศึกษาไทย ไว้ 8 ประการ คือ 1. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2. โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ 3. จัดตั้ง "โรงเรียนดีประจำตำบล" 4. พัฒนาการศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5. สร้างแหล่งการเรียนรู้ราคาถูก 6. จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพครู 7. พัฒนาคุณภาพชีวิตครู และ 8. สนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี

“ในปี 2011 - 2013 กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวทางการนำระบบ ICT มาพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดย การขับเคลื่อนผ่านนโยบาย 3Ns อันประกอบด้วย NEdNet NEIS และ NLC โดยมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ ผู้เรียน ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการนำระบบ ICT มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนผ่าน 3 ช่องทาง คือ
1. การพัฒนาครูผ่านระบบออนไลน์ (UTQ Online) โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ผ่านทางเวปไซต์ www.utqonline.com
2. โทรทัศน์ครู (Thai Teacher TV) ซึ่งเป็นรูปแบบการนำประสบการณ์สอนของครูทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนกัน โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เวปไซต์ และสื่อการสอนในรูปแบบ ดีวีดี
3. เวปไซต์พัฒนาครู GURU Online เป็นเวปไซต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สป. กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนและช่วยเหลือครูตั้งแต่การจัดทำแผนการสอน วิธีการสอน และการประเมินผล ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่พัฒนาความรู้ ทักษะการสอน และด้านเทคโนโลยีให้กับครูได้เป็นอย่างดี” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: