วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การพิจารณาย้ายผู้บริหารโรงเรียน รอบแรกต้องเสร็จภายใน 15 พ.ย.

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ศธ 0206.4/2677 ลงวันที่ 29 ก.ค. ดังนี้ ให้พิจารณาการย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ย. เมื่อมีตำแหน่งว่างหลังจากการย้ายครั้งแรก ให้สามารถใช้ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาต่อเนื่องกันได้จนครบตำแหน่งว่างตามสัดส่วนการใช้ตำแหน่งว่างที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษากำหนด หรือจนไม่มีคำร้องของผู้ประสงค์ขอย้ายมาดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาที่ว่างนั้น แล้วจึงนำตำแหน่งว่างที่เหลือไปใช้แต่งตั้งจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ส่วนเรื่องกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสายมัธยมศึกษาใหม่ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สมาคมรองผอ.สถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เสนอให้มีผู้แทนรองผอ.สถานศึกษาไม่เกิน 4 คน จากเดิม 1 คน โดยมาจากการเลือกกันเอง ส่วนสัดส่วนผู้แทน ผอ.สถานศึกษา ยังคงใช้เกณฑ์เดิมคือ ไม่เกิน 4 คน

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ก.ค.ศ.ยังเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งของ ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ดังนี้ มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือ ทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด, ต้องดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของอันดับ คศ.4 ที่สำคัญต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารการประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นอกจากนี้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร และผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

ด้าน นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สพม.เขต 1 กรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศจัดตั้ง สพม. 42 เขต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเกลี่ยบุคลากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เดิม มาลง สพม.ทั้ง 42 เขต และ สพป. 183 เขต แต่ตอนนี้ตัวเลขยังไม่ลงตัว อย่างไรก็ตามถึงแม้ในระยะแรก สพม.จะมีอัตรากำลังไม่มากนักแต่ก็สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบมีคนอยากมาอยู่ใน สพม.ค่อนข้างมาก ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม ประสบการณ์การทำงานด้านการมัธยมศึกษา เพื่อให้มาทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะไม่ให้ สพท.เดิม หรือ สพป.เกิดปัญหาอัตรากำลังไม่เพียงพอ.

เรียนรู้บูรณาการในโรงเรียนเล็ก

“อันโรงเรียนทั่วไปในประเทศ
ต่างประเภทต่างชั้นกันหนักหนา
ตั้งแต่ตึกสูงงามอร่ามตา
จนกระทั่งหลังคาเป็นตองตึง

โรงเรียนเล็กหรือใหญ่เป็นไรเล่า
ถ้าครูเอาใจใส่ได้ทั่วถึง
พบครูดีทีไรใจคะนึง
ว่าเมืองไทยได้หนึ่งโรงเรียนดี”

บทกลอนดังกล่าว เป็นบทประพันธ์ของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่นับเป็นปูชนียบุคคลในวงการการศึกษาไทย ผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ คงไม่มีผู้ใดที่อยู่ในแวดวงการศึกษาจะไม่รู้จัก

เราจะเห็นว่า การแบ่งโรงเรียนในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เรารู้จักโดยทั่วกันคือ โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ แต่ความเป็นจริงยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ สำหรับโรงเรียนที่จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ตามเกณฑ์การจัดขนาดโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กตั้งแต่ 120 คนลงมา ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั้งในเมืองและนอกเมือง บางแห่งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ส่วนใหญ่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 แต่มีบางแห่งที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

จากการรายงานผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่า โรงเรียนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างน่าพึงพอใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมาตรฐานที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ผ่านรับรองการประเมินมาตรฐานภายนอกของ สมศ. โดยเฉพาะด้านผู้เรียน เช่น มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

หลายเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการประเมินภายนอก เช่น ปัญหามีครูไม่ครบชั้น ขาดครูบางสาขาวิชา ไม่มีแผนการสอนครบทุกสาระ ซึ่งล้วนส่งผลถึงคุณภาพ นักเรียนที่ทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำหลายคนเคยเสนอความเห็นให้ “ยุบ/เลิก” ในกรณีโรงเรียนในที่ไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพได้ ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษา ธิการที่ว่า กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยมาก ๆ หากโรงเรียนใดพึงเลิกได้ก็ให้ “เลิก” หากโรงเรียนใดพึงรวมกับโรงเรียนอื่นใกล้เคียงได้ก็ให้ “รวม” แต่ต้องหาวิธีการที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองหรือผู้เรียน แต่หากโรงเรียนใดยังคงเปิดสอนก็จะต้องดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพ

วิธีการหนึ่งในการเพิ่มเติมคุณภาพ จากการศึกษาพบว่า การจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราครูต่อนักเรียนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นด้วย ส่วนการเรียนการสอนที่แยกส่วนตามรายวิชา จะขาดการบูรณาการทั้งด้านเนื้อหา และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้น สพฐ. นำโดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ และได้นำวิธีการจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น (Multigrade Teaching) มาใช้ เพราะเล็งเห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้กรณีที่โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น

การจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น เป็นการดำเนินการจัดชั้นเรียนที่นำนักเรียนต่างชั้น ต่างกลุ่มอายุ และต่างความสามารถมาเรียนรู้พร้อมกันในห้องเดียวโดยมีครูคนเดียวจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ ถือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่สนองตอบความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มย่อย

ในการจัดเด็กที่เรียนอยู่ต่างชั้น ต่างกลุ่มย่อย ต่างกลุ่มอายุ ต่างความสามารถ แล้วนำมาจัดการเรียนรู้พร้อมกันนั้น ต้องอาศัยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรมแบบรวมชั้น การทำงานกลุ่มย่อย การทำงานแบบคู่ การทำงานรายบุคคล ซึ่งการจัดกลุ่มนักเรียนในชั้นเรียนแบบคละนี้ ครูต้องคำนึงถึงพัฒนาการหรือระดับความสามารถของเด็ก และไม่จัดเด็กที่มีความสามารถต่างกันมาก ๆ มาเรียนรวมกัน เช่น ป.1 กับ ป.5 แต่ต้องจัดเด็กที่มีระดับพัฒนาการในการเรียนรู้ใกล้เคียงกันมาเรียนรวมกัน เช่น ป.1 รวมกับ ป.2 ป.2 รวมกับ ป.3 ป.1-ป.3 ป.4-6 รวมทั้งปริมาณเด็กในชั้นเรียนแบบ คละนี้ต้องมีสัดส่วนครูต่อเด็กไม่เกิน 1 ต่อ 20 คน เพื่อให้การดูแลเด็ก ที่ต่างความสามารถในการเรียนรู้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประ สิทธิภาพ
ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ. ได้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทั้งในรูปแบบการบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการควบคู่กับการเน้นทักษะพื้นฐานที่จำเป็น มีการจัดการเรียนรู้หลักสูตรบูรณาการตามจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน สำหรับการจัดตารางเรียนนั้นในช่วงเช้าเน้นการเรียนรู้ด้านภาษาและคณิตศาสตร์ ส่วนภาคบ่ายจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นหน่วยการเรียนรู้โดยเน้นทักษะที่สำคัญที่เป็นทักษะร่วมในการแสวงหาความรู้ เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประกาศ “จุดเน้นคุณภาพผู้เรียน จุดเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษาไทย” สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กได้เน้นการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยรอบสองเช่นกัน.

ฟาฏินา วงศ์เลขา นสพ.เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: