วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อนุกก.คุรุศึกษาฯ เสนอ 6 คานงัด ปฏิรูประบบคุรุศึกษา


เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 6/2553 ณ ห้องประชุมลำพอง 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เสนอ 6 คานงัดปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ เตรียมนำเข้าที่ประชุม กนป. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุม ดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอประเด็นยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติ 6 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย 1. จัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนการผลิตการพัฒนาและการใช้ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในระบบที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศด้านปริมาณและคุณภาพสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง 2.เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู โดยกลไกคลัสเตอร์คุรุศึกษา(Teacher Education Clusters, TEC) ด้วยการนำพลังจากภายนอกวงการ คุรุศึกษามาร่วมกระบวนการและใช้การสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ชุมชน สังคม

สำหรับประการที่ 3. สร้างครูยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการเรียนของผู้เรียน ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรการผลิตครูระดับปริญญาตรี ที่เน้นกระบวนการ เนื้อหาสาระ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ บูรณาการบนพื้นฐานของค่านิยมหลัก การเชื่อมโยงระหว่างการเตรียมคนที่จะเป็นครูกับการพัฒนาวิชาชีพครู 4.ยกเครื่องระบบบริหารงานบุคคลของครู โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ กฎ ระเบียบต่างๆ ให้สั่งผลต่อคุณภาพการสอนและคุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ ดึงศึกษานิเทศก์ให้เข้ามามีส่วนพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการสอนของครูให้มากขึ้น 5.พัฒนาระบบการพัฒนาและฝึกอบรมครูทั้งใน และนอกระบบ พัฒนานวัตกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน จัดตั้งศูนย์วิชาการสำหรับครูในพื้นที่ต่างๆ และ 6. สร้างนวัตกรรมหลักการฝึกหัดครูทั้งในและนอกระบบ

“สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เป็นสถาบันทางวิชาการและวิชาชีพเฉพาะด้านคุรุศึกษาระดับประเทศในกำกับของรัฐที่เป็นนิติบุคคล รูปแบบองค์กรมหาชน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ได้มากกว่าการบริหารงานตามสายบังคับบัญชาของระบบราชการ สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นธรรม ปราศจากความลำเอียงและแรงกดดันที่จะทำให้การดำเนินงานเบี่ยงเบนไปจากความจริง เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการปฏิรูประบบคุรุศึกษาของประเทศ ต่อไป” รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: