วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เสนอ ศธ.เพิ่มเรื่องเพศ-เอดส์ เข้าหลักสูตรการศึกษา

นายกมล รอดคล้าย รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอแผนปฏิบัติการเร่งรัดการติดเชื้อเอชไอวี ประจำปี 2554-2555 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการแผนดำเนินการป้องกันจัดทำดัชนีชี้วัดเป้าหมาย และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประสานการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเอดส์และเพศศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละระดับ และผลักดันให้เกิดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมในสถาบันการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของส่วนราชการ พร้อมขยายการดำเนินงานเอดส์ เพศศึกษา และทักษะชีวิต ในสถานศึกษาทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในการป้องกัน ขณะเดียวกัน ให้สร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนะที่ดีต่อการป้องกันการติดเชื้อ และการยอมรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในกลุ่มครู ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อ และช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ทั้งในเรื่องการศึกษาและความเป็นอยู่ และให้มีการกำกับติดตามการดำเนินงานในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม

รองปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จากการสำรวจโครงการติดตามสภาวะการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา อายุระหว่าง 18-20 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ตอนล่าง และตอนบน มีประวัติว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังพบว่า เด็กและเยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาโรคเอดส์เพียง ร้อยละ 37 อย่างไรก็ตาม ศธ.ร่วมกับ สภานักเรียนไทยป้องกันเอดส์ โดยดำเนินการใน 2,425 โรง จัดให้มีวิทยากรนักเรียน 19,500 คน วิทยากรครู 490 คน นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการถ่ายถอด 388,000 คน และเยาวชนในชุมชนที่รับการถ่ายทอดความรู้ 194,000 คน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

นสพ.ผู้จัดการออนไลน์

สสวท.เล็งขอเพิ่มค่าครองชีพเด็กทุนวิทย์-คณิต ม.4-ป.เอก

สสวท.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อดูแลพัฒนาการศึกษาและการพัฒนางานวิจัยของประเทศในอนาคต โดยขอให้ไปสำรวจตัวเลขค่าครองชีพของนักเรียนทุนตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ชั้น ม.4 ไปจนถึงระดับปริญญาเอกว่าควรจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยปรับค่าครองชีพเพิ่มมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว และเพื่อจูงใจให้เด็กเก่งมาเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ ขอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวไปศึกษาว่าควรเพิ่มงบวิจัยให้แก่อาจารย์ปริญญาเอกจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้อาจารย์ผลิตผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นและอาจารย์เหล่านี้ได้ดึงเด็กมาร่วมงานวิจัย กระตุ้นให้เด็กสนใจทำวิจัยมากขึ้น และเพิ่มจำนวนทุนผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็น 180 ทุนต่อปี จากเดิมมี 130 ทุนต่อปี เพื่อผลิตหัวกะทิมาพัฒนาประเทศ จะหารือร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ หากที่ประชุมเห็นด้วยตามตัวเลขที่คณะกรรมการเสนอมาก็จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นางดวงสมร คล่องสารา รอง ผอ.สสวท. กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าค่าครองชีพของนักเรียนนักศึกษาที่รับทุนตามโครงการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะไม่ได้ปรับเพิ่มมา 17 ปีแล้ว สสวท.เสนอขอเพิ่มจาก ครม.แล้วหลายชุด แต่เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้ยังไม่ได้พิจารณา โดยทุนภายในประเทศระดับ ม.4 ปัจจุบันได้รับค่าครองชีพอยู่ที่ 3,500 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 4,000 บาทต่อเดือน ปริญญาโท 5,500 บาทต่อเดือน และปริญญาเอกอยู่ที่เดือนละ 6,500 บาท ส่วนนักเรียนทุนต่างประเทศไม่มีปัญหาเนื่องจากใช้ฐานเงินค่าครองชีพของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่จะปรับเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ พบว่าจะต้องเพิ่มค่าครองชีพให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่รับทุนถึง 70% จึงเพียงพอต่อการดำรงชีวิตตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: