วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การสัมมนา "เด็กปฐมวัย สมรรถนะดี คิดดี ทำดี"

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการสัมมนา "เด็กปฐมวัย สมรรถนะดี คิดดี ทำดี" จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

รมว.ศธ. กล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ และเป็นอนาคตของชาติ
การที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๕ ปี) ระยะยาว พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จนนำไปสู่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อเป็นกรอบสำหรับการดำเนินงานให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ดร.สายสุรี จุติกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นรองประธานคนที่สอง

คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งจากกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ส่งผลให้การดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการประสาน บูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งการเสนอแนะให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

สกศ. จึงร่วมกับองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย ๐-๕ ปี เพื่อศึกษาความสามารถแสดงออกหรือพฤติกรรมตามวัยของเด็กในด้านต่างๆ ว่าเด็กสามารถทำอะไรได้ (can do) ในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปี โดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงอายุ คือ สมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย ๐-๓ ปี ตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรม ๒๘๖ ข้อ และสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย ๓-๕ ปี ตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรม ๔๑๙ ข้อ ซึ่งตัวนี้วัดเหล่านี้ สามารถนำไปใช้เทียบเคียงกับพฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงวัยได้ ในกรณีที่เด็กยังไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามวัยได้ ครู อาจารย์ และผู้ดูแลเด็ก ควรมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเด็กเพื่อพัฒนาให้มีสมรรถนะตามวัยนั้นๆ และส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง เติบโตตามวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาวิจัยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ ขยายผล องค์ความรู้ และนำผลการวิจัยดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงร่วมกับองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทยจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการนำสมรรถนะไปใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: