วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์ สอน"เด็กไทย" พลเมืองยุคใหม่

ที่ประชุม กนป.เห็นชอบยุทธศาสตร์ปฏิรูปคุรุศึกษาแห่งชาติ ยกเครื่องระบบผลิตครูทั้งกระบิ หวังมีประสิทธิภาพเพียงพอ สอนให้คนไทยเป็น "พลเมืองยุคใหม่" ใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นได้ ภายในปี 2561

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายอภิสทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์และมาตรการการปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายให้คนไทยยุคใหม่ใฝ่ดีใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น โดยมียุทธศาสตร์ดังนี้
1.จัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ
2.ยกเครื่องระบบการพัฒนาและฝึกอบรมครู
3.สร้างครูพันธุ์ใหม่
4.ส่งเสริมนวัตกรรมหลักสูตรการผลิตครู
5.ยกเครื่องระบบการบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษา
6.เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันการผลิตครู

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (ปี 2553-2561) ที่มีความสามารถในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นให้วัดที่ผลสัมฤทธิ์ การเรียนรู้จากแบบที่ดี ขณะเดียวกันครู ผู้บริหาร และนักเรียนจะต้องมีจิตสำนึกเรื่องของความเป็นพลเมือง และเนื่องจากความเป็นพลเมืองเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา จึงต้องมีแผนที่ชัดเจนและต้องไม่ขัดกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้น
"ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปรับเปลี่ยนนักเรียนให้เป็นพลเมืองยุคใหม่ให้ได้ร้อยละ 75 นั้น ที่ประชุมเห็นว่าการสร้างความเป็นพลเมืองเป็นเรื่องของคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างจิตสำนึกมากกว่า" นายชินวรณ์กล่าว.

รองปลัด ศธ. หารือความร่วมมือทางการศึกษา
นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างที่ปรึกษาด้านการศึกษาจาก Australian Educational International (AEI) ณ ห้องประชุม สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ โดยที่ปรึกษาจาก Australian Educational International ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นว่าทาง Australian Educational International นั้นต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะลักษณะการสนับสนุนในเชิงโครงการความร่วมมือทางการศึกษาแบบระยะยาว

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้นำเสนอโปรแกรมความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ใน 4 ด้าน ด้านแรกคือ ความร่วมมือด้าน Human Resources Development/ Building Competency ด้านที่สอง คือ Strengthening Capacity and Leadership of School Level ด้านที่สาม คือ Capacity Building in Lifelong – Learning and Higher Education และด้านสุดท้าย คือ Institutional Linkage ซึ่งนายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้หารือกับทางที่ปรึกษาด้านการศึกษาจาก AEI ว่าก็มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือดังกล่าวที่ได้นำเสนอไปทั้ง 4 ด้าน ทางด้านของที่ปรึกษาจาก AEI เองมีความคิดเห็นว่าควรที่จะมีการหารือเพื่อทราบเกี่ยวกับนโยบาย เป้าหมายหลักขอนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลไทย และตกลงว่าทาง AEI จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลไทยให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างไร

ด้านนายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้หารือกับทางที่ประชุมและมีมติตกลงร่วมกันว่าเห็นควรให้มีการจัดประชุมเพื่อหารือและทำข้อตกลง MOU ระหว่างกัน โดยใช้เวลาในการประชุมเป็นเวลา 1 วัน และมีวาระหลักที่สำคัญ คือ ในช่วงแรกจะเป็นการทำข้อตกลง MOU ระหว่างกันก่อน จากนั้นในวาระต่อไปจะเป็นการประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายหลักในการปฎิรูปการศึกษาของไทย เป้าหมายเชิงนโยบายและโครงการที่ถูกคัดเลือกมาเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย และ การอภิปรายร่วมกัน ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมดังกล่าวต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: