วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ข้อเสนอแนะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง การวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนภายหลังการประเมินภายนอกรอบแรก พบว่า โรงเรียนเร่งรัดการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงจากปรับปรุงเป็นระดับที่สูงขึ้น และร้อยละ ๗๐ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับปรับปรุงจนเป็นระดับดีขึ้นไป ส่วนข้อเสนอแนะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยมีสำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงบประมาณด้านการผลิตและการเพิ่มอัตราครูในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งทดแทนครูที่เกษียณอายุก่อนกำหนด

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงการวิจัยว่า แบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะแรกเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยโรงเรียนที่มีผลการประเมินรอบแรกที่อยู่ในระดับปรับปรุง จำนวน ๕๙๖ โรง และโรงเรียนที่มีผลประเมินอยู่ในระดับพอใช้/ดี กระจายตาม ๔ ภูมิภาค ระยะที่ ๒ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ โรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษาจำนวน ๔๓ โรง จาก ๑๖ จังหวัด ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้แทน ครูอาจารย์ในโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหารและ/หรือนักวิชาการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

“ผลการวิจัย พบว่า โรงเรียนเร่งรัดการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงจากปรับปรุงเป็นระดับที่สูงขึ้น มีมากกว่าร้อยละ ๘๐ และร้อยละ ๗๐ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับปรับปรุงจนเป็นระดับดีขึ้นไป และโรงเรียนเร่งรัดส่วนใหญ่ปรับปรุงการดำเนินงานโดยการพัฒนาครู ร้อยละ ๘๓ รองลงมาคือการคิดค้นวิธีการพัฒนาผู้เรียนด้วยวิธีการแนวใหม่ ร้อยละ ๗๓ และการพัฒนาหลักสูตร ร้อยละ ๖๙ โรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น และมีการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนการศึกษากับองค์การรัฐและเอกชน ส่วนในด้านวิธีการพัฒนาการบริหารจัดการ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ ๙๑ ใช้วิธีการบริหารแบบมีส่วนร่วม” เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวและว่า ด้านกระบวนการช่วยเหลือโรงเรียน พบว่า โรงเรียนประมาณร้อยละ ๔๖ รายงานว่ากระบวนการให้ความช่วยเหลือมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนประมาณร้อยละ ๔๐ ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ชุมชน ศิษย์เก่า ร้อยละ ๓๑ ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร้อยละ ๑๒ ได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการ โดยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ รองลงมาเป็นความช่วยเหลือด้านวิชาการ ร้อยละ ๑๗”

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวสรุปว่า สำหรับข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ จะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู ประสานความร่วมมือกับสถาบันผลิตครูในการจัดทำแผนความต้องการกำลังครู โดยมีสำนักงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการทำ MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการผลิตและการเพิ่มอัตราครูในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งทดแทนครูที่เกษียณอายุก่อนกำหนด มีระบบการจัดสรรงบประมาณรายหัวสำหรับโรงเรียน รวมถึงการศึกษาวิจัยข้อดีข้อเสียการโอนสถานศึกษา

แนวทางการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔
รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มอบนโยบาย สพฐ. เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียน หลักเกณฑ์และรายละเอียดว่า ควรจะผ่านความเห็นชอบของ กพฐ. ก่อน

ศธ.ต้องการขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพ จึงต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อให้โรงเรียนไปสู่มาตรฐานสากลที่มีคุณภาพสูงขึ้น และต้องการให้สัดส่วนการรับนักเรียนระหว่างโรงเรียนของรัฐกับโรงเรียนเอกชน มีความชัดเจนแน่นอน หากสามารถทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการวางระบบและรากฐานที่ถูกต้อง ซึ่งในอดีตยังไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้

กระบวนรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เริ่มต้นด้วยการให้โอกาสเพื่อสร้างความเข้าใจ โดย สพฐ.ต้องหารือและกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับ กพฐ. จากนั้นจะมีการหารือกับผู้บริหารโรงเรียนให้เกิดความเข้าใจถึงนโยบายที่แท้จริงว่า จะตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างไร และทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและประชาชน ให้ยอมรับความเป็นจริงและร่วมมือกับ ศธ.เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาในแต่ละสถานศึกษาให้ใกล้เคียงกัน
เมื่อ สพฐ.ได้หารือกับ กพฐ.เรียบร้อยแล้ว ก็จะสรุปหลักเกณฑ์การรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๔ ให้นำไปสู่กระบวนการสร้างความเข้าใจตั้งแต่ระดับ สพฐ. โรงเรียน และผู้ปกครอง โดยคาดว่าแนวทางการรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๔ จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพฐ.ต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวถึงกรณีสถานศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๒ มีจำนวนที่นั่งไม่เพียงพอว่า หาก ศธ.สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีสัดส่วนที่แน่นอน และประกาศให้ทุกคนเข้าใจและทราบโดยทั่วกัน รวมทั้งการสร้างค่านิยมใหม่ เปลี่ยนกรอบความคิด และทำให้เห็นว่าไปเรียนโรงเรียนใดก็มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และสามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่นั่งไม่เพียงพอในสถานศึกษาได้.

ไม่มีความคิดเห็น: