วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการเตรียมจัดงาน วันวชิราวุธ ประจำปี ๒๕๕๓ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งจะมีกำหนดพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ หน้ากระทรวงศึกษาธิการ และเวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ สวนลุมพินี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี โดยในวันดังกล่าวจะมีลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือและเนตรนารี ออกบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย

รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด สภาลูกเสือไทยร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน มูลนิธิส่งเสริมการลูกเสือแห่งประเทศไทย สมาคมสโมสรลูกเสือลพบุรี สิงห์บุรี วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี วิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี สำนักงาน กศน. จังหวัดสิงห์บุรี และนครปฐม ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดโครงการลูกเสือไทยช่วยผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแบบยั่งยืน โดยคัดเลือกผู้แทนแต่ละชุมชนที่ประสบอุทกภัยเข้าร่วมโครงการให้ความรู้เรื่องทักษะทางการลูกเสือ การปฐมพยาบาล การจัดทำแพ การปลูกผักสวนครัวลอยน้ำ การตั้งจุดบริการซ่อมเครื่องยนต์ แจกเครื่องอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตประจำวัน การบำเพ็ญประโยชน์และฟื้นฟูจิตใจแก่ชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน ๒ รุ่น รวมทั้งได้บริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำลูกเสือในสังกัด ออกบำเพ็ญประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำลด เป็นการรับใช้สังคมและปฏิบัติตามกฎ คำปฏิญาณของลูกเสือ โดยได้จัดสรรงบประมาณปี ๒๕๕๔ ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ประสบอุทกภัย ๔๖ เขตๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท.

การก้าวสู่ฮับการศึกษาอาเซียนนศ.เรียนภาษา
รศ.ดร.ชนงกรณ์ กุณฑลบุตร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน หรือฮับการศึกษาอาเซียนนั้น คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ได้มีการวางนโยบาย แนวทางในการสนับสนุนการเป็นฮับการศึกษาอาเซียน โดยขณะนี้นอกจากมีการเปิดหลักสูตรนานาชาติที่สอนเป็นภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี 4 สาขา ได้แก่

สาขาการตลาด สาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ และสาขาภาษาอังกฤษธุรกิจแล้ว ยังได้มีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อส่งนักศึกษาไปเรียนร่วม และฝึกงานที่ประเทศต่างๆ รวมถึงมีการปรับพื้นฐาน เพิ่มเติมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ แก่นักศึกษาทั้งในส่วนของนักศึกษาไทยในหลักสูตรปกติ และหลักสูตรนานาชาติ โดยในแต่ละชั่วโมงเรียน จะเน้นการเรียนให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง นำเสนอรายงานเป็นภาษาอังกฤษ มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สัปดาห์ภาษาอังกฤษ หรือโซนภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษามีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษและเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนในไทยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีเข้ามาเรียนประมาณ 10 % โดยเป็นนักศึกษาจากในภูมิภาคอาเซียน และยุโรป อาทิ นศ.จากประเทศจีน เวียดนาม เยอรมัน ออสเตเลีย เป็นต้น

“อนาคต โลกจะเปิดกว้างมากขึ้น ทุกประเทศจะเชื่อมโยงกัน ดังนั้น หากเด็กไทยของเรายังขาดทักษะทางด้านภาษาก็จะสู้กับเด็กในชาติอื่นไม่ได้ ทางคณะบริหารธุรกิจ จึงพยายามเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนร่วม หรือฝึกงานในต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มเติมทักษะทางด้านภาษา แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีนักศึกษาอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นฮับการศึกษาอาเซียน ทำให้พวกเขาไม่สนใจหรือเตรียมพร้อม พัฒนาตนเอง เพื่อทำงานในโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป โดยดูได้จากเวลาจะส่งนักศึกษาไปเรียนร่วม หรือฝึกงานในต่างประเทศ หากไป2-3 อาทิตย์จะไม่มีปัญหา แต่หากไปเป็นเดือนๆ นักศึกษาจะปฎิเสธ ไม่อยากไป”คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าว

ทั้งนี้ การไปฝึกงาน เรียนร่วมในต่างประเทศ จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ มุมมอง และการใช้ทักษะภาษาได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหากจะมีการผลักดันมหาวิทยาลัย คณะให้มีความพร้อมในการก้าวสู่ฮับการศึกษาอาเซียนอย่างจริงจัง นอกจากมหาวิทยาลัย คณะต้องมีการเปิดหลักสูตรที่มีคุณภาพ รองรับนักศึกษาต่างชาติแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจแก่นักศึกษาไทย กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว อยากเรียนรู้ภาษา สนใจการเรียน ฝึกงานในต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นอนาคต บัณฑิตไทยจะตกงานมากขึ้น เพราะไม่สามารถแข่งขันกับบัณฑิตจากประเทศอื่น

ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: