วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปรับทั้งระบบ-ทุกภาคส่วนต้องตื่นฝ่า"วิกฤติคุณภาพการศึกษาไทย

จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ” นั่นคือที่มาของ "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542" กำหนดรูปแบบการศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.การศึกษาในระบบ 2.การศึกษานอกระบบ และ 3.การศึกษาตามอัธยาศัย เน้นคุณภาพเชิงวิชาการ และคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ดูเหมือนว่าการปฏิรูประบบการการศึกษาภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในห้วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีอะไรในก่อไผ่ ทุกอย่างเหมือนเดิม จึงทำให้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 เห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ.2552-2561) และเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านระบบการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ ฉะนั้นบนเวทีเสวนา "วาระประเทศไทย" ในหัวข้อ "วิกฤติคุณภาพการศึกษาไทย" เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีเนชั่นกรุ๊ปนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้รู้จากหลายภาคส่วนได้สะท้อนให้เห็นว่า "วิกฤติคุณภาพการศึกษาไทย" เป็นวาระใหญ่ระดับประเทศที่ต้องเร่ง "ปรับ" ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้ เนื่องเพราะ "จุดอ่อน" เชิงโครงสร้างที่เป็นปมปัญหาในช่วง 10 ปีของการใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นั้น คือความล้มเหลวเชิงคุณภาพ ทั้งระบบ ตัวป้อน (ครู/อาจารย์) ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของ "ผลผลิต" (เด็ก) ในปัจจุบัน นำไปสู่การ "ปฏิรูปรอบ 2" (2552-2561) ดังกล่าว

ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้กลายเป็นธงนำของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับการเดินหน้ายกเครื่องระบบการศึกษาไทยให้พร้อมรับการแข่งขัน ซึ่งก็มีหลายคำถามและข้อเสนอแนะ อันจะนำไปสู่ "มิติใหม่การศึกษา" ที่ไม่ได้หวังพึ่งกลไก "ปฏิรูป" เพียงอย่างเดียว รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ได้สะท้องให้เห็นในเชิงภาพกว้างว่า คนคนหนึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ชุมชน ครอบครัว ถือเป็นเรื่องของความรับผิดชอบหมู่ ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่า การศึกษา ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ แต่จริงไม่ใช่ เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ นัยหนึ่งต้องการเป็นการบอกให้ทุกคนในสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียน ให้ตื่นได้แล้ว ตื่นขึ้นมาเพื่อไปมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤติการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ ที่ผ่านมา หลายส่วนพยายามสร้างมาตรฐานเพื่อให้บรรลุใน 3 ข้อหลัก คือ 1.การสร้างมาตรฐานใหม่ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาการศึกษาไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพ จะทำแบบเดิมที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว 2.วิธีคิดแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น เรื่องของเงินอุดหนุน โรงเรียนใหญ่-เล็ก-นานาชาติ ต้องเท่ากัน ทุกโรงเรียน ทุกขนาดต้องอยู่ในระบบเดียวกัน และ 3.ที่ต้องทำคือ เน้นปฏิรูปโรงเรียนที่ขนาดเล็ก แนวคิดนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ระบุว่า เป็นการมองในเชิงบริหารจัดการ โรงเรียนเล็กๆ ที่อ่อนแอควรรวมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดด้านทรัพยากร คน และงบประมาณ ซึ่งจะนำมาซึ่งการอยู่รอด และขีดความสามารถของโรงเรียน เมื่อมีครูสอนครบทุกวิชา โรงเรียนจะเข้มแข็งขึ้น และยืนได้ "เราทำอย่างไรให้โรงเรียนเล็กที่ดีๆ เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนโรงเรียนเล็กๆ ที่มีปัญหาด้านคุณภาพก็ให้รวมตัวกันซะ ตรงนี้การใช้ทรัพยากรจะเกิดคุโณปการอย่างยิ่ง เมื่อกระบวนการปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าและแล้วเสร็จ เด็กที่จะได้จากการปฏิรูป และเด็กยุคใหม่ ต้องคิดเป็น" รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

"คิดเป็น" ในนัยของ รศ.ดร.วรากรณ์คือ 1.เมื่อเห็นข้อมูลที่กระจัดกระจายสามารถนำมาสรุปได้ 2.ได้รับข้อมูลมาต้องประเมินได้ โดยใช้ตรรกะของตัวเอง และ 3.เอาข้อมูลมาใช้ในการวางแผนชีวิตได้ และการจะเป็นอย่างนี้ได้ หัวใจอยู่ที่ตัวป้อนคือครูต้องดีด้วย "ที่สิงคโปร์จะชอบพูดว่า สอนน้อยๆ แต่เรียนรู้เยอะ การสอนจะเพียงแค่ความรู้พื้นฐาน แต่เน้นกระบวนการสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กอยากรู้ และขวนขวายหาความรู้เอง ครูยุคใหม่ต้องปรับบทบาทให้ได้ แล้วการศึกษาไทยจะฝ่าวิกฤติไปได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนในประเทศไทยต้องตื่น หากไม่อยากล้าหลังมากกว่านี้" รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว ในปี 2558 ที่เราต้องทำคือ การตื่นตัว และหาประโยชน์จากการตื่นตัวนี้ให้ได้ ภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมของอาเซียนด้วยกันต้องสร้างการเรียนรู้ให้แก่คนในประเทศ ไม่อย่างนั้นเราจะเสียประโยชน์อย่างมาก ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดกฎระเบียบมากจนเกินไป ก่อให้ปัญหาเครียดของเด็กไทยพุ่งเกินหน้าหลายประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุ เด็กไทยถูกบังคับให้เรียนในห้องเรียน โดยมีชั่วโมงเรียนในแต่ละวันมากที่สุดในโลก หากเปรียบเทียบกับเด็กจีนที่มีความเครียดจากสภาวะการแข่งขันสูงก็ยังใช้เวลาเรียนในห้องเรียนในแต่ละวันน้อยกว่าเด็กไทยมาก ภายใต้บรรยากาศของการเคร่งเครียดและเหมือนกับการยัดเยียดความรู้ให้แก่เด็ก มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเบื่อหน่าย และปฏิเสธการอ่านและการเรียนไปเลย ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 มองปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยแก้ได้ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษายุคใหม่ไม่ใช่มุ่งที่เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้เกิดการเรียนรู้ในทุกระดับ ตั้งแต่วัยเด็ก-เรียนระดับมหาวิทยาลัย-ชีวิตงาน จนถึงชีวิตหลังเกษียน และที่สำคัญการเรียนรู้ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วย

"การศึกษาตลอดชีวิต" หรือ "เรียนรู้ตลอดชีพ" ศ.ยงยุทธ บอกว่า ไม่ใช่เพียงความรู้ที่ได้จากในระบบ (การศึกษาปกติ) แต่ผู้ศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่ไขว่คว้าหาความรู้เอง ส่วนพ่อแม่มีบทบาทสำคัญด้วย "ที่ผ่านมาพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ มักชอบบอกเด็กเสมอว่า อย่าซนน่ะ แต่ไม่มีเหตุผลประกอบ ตรงนี้ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กคิดแบบมีเหตุผล ไม่ใช่พอเด็กถามก็จะบอกว่า อย่าถามมาก เป็นต้น เพราะธรรมชาติของเด็กมักจะอยากรู้อยากเห็น ที่สำคัญต้องเปิดให้เด็กได้เรียนรู้เอง อาทิ ปล่อยให้หกล้มบ้าง ซนบ้าง แต่ต้องซนในขอบเขต และซนอย่างมีสาระ" กรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 กล่าว เด็กไทยหลังปฏิรูปการศึกษา ศ.ยงยุทธ บอกว่า ต้องมีทักษะใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.ใจดี 2.ใฝ่รู้ 3.คิดเป็น 4.ทำเป็น เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญต้องดึงความร่วมมือจากส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยรากหญ้า (หน่วยงานท้องถิ่น) ทำหน้าที่บริหารจัดการการ และกระทรวงศึกษาฯ ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็น "สนับสนุน" มากกว่า "ทำเอง" เท่านี้ การศึกษาไทยยุคใหม่น่าจะเกิดได้ สอดคล้องกับมุมมอง ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ที่มองการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเดินหน้าสู่การเรียนรู้แบบตลอดชีวิตว่า เด็กไทยวันนี้โชคดีกว่าในอดีตมาก เพราะการเรียนรู้ทำได้แบบติดตามตัว โดยมีโทรศัพท์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ

"เด็กมัธยม 100% มีมือถือ ทุกวันนี้เครื่องราคา 2-3 พันบาท ก็เข้าอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ทำให้การเรียนรู้วันนี้ทำได้อย่างมากมายมหาศาล หากว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมียุทธศาสตร์ดีๆ จะผลักดันให้เด็กคิดเป็นและใฝ่รู้" ดร.อมรวิชช์ กล่าว ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยคือ ใฝ่รู้ แต่เป็นการใฝ่รู้ในเรื่องที่ไม่น่ารู้ โดยมีสื่อ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทกับการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ การที่จะนำเด็กให้รู้ในสิ่งที่น่ารู้นั้น ในมุมมองของ ดร.อมรวิชช์ คือ ควรสร้างความร่วมมือทั้งในส่วนโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน นั่นคือ คุยกับลูกให้มากขึ้น และปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ขณะที่กระบวนการสอน และสร้างการเรียนรู้ใหม่ ดร.อมรวิชช์ยกตัวอย่าง โรงเรียนแห่งหนึ่งต้องการสอนเด็กเกี่ยวกับสุขอนามัยด้วยวิธีการสอนที่เฉียบขาดมากในชั้นเรียนอนุบาล 3 ครูต้องการสอนว่า แมลงวันเป็นพานะนำโรค ถ้าจะให้ครูบอกอย่างเดียวเด็กๆ อาจไม่สนใจ หรือไม่เกิดการเรียนรู้ แต่เขาใช้วิธีให้เด็กๆ ออกไปหาแมลงวันที่ถูกใจมา 1-2 ตัว แล้วมาพรีเซ็นต์บอกเพื่อนๆ ว่า แมลงวันทำอะไรบ้าง แสดงอาการยังไงบ้าง ผลที่ได้คือ เด็กๆ ก็บอกว่า แมลงวันจะบินไปเกาะจานข้าว และก็อยากแสดงท่าทางอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งแตกต่างกันตามแต่การสังเกตของเด็ก ที่สุดคำตอบก็ได้ว่า แมลงวันเป็นเครื่องบินของเชื้อโรค หรือเป็นพานะนำโรคนั่นเอง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนรู้แบบใหม่ต้องมาพร้อมกับครูยุคใหม่ ที่ต้องปรับบทบาทให้เป็นทั้งผู้สอน และผู้เรียนรู้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ที่มองการปฏิรูปการศึกษา แนะว่า หากต้องมองวิกฤติคุณภาพการศึกษา ต้องมองภาพรวมให้ออก เขาอยากเห็นการศึกษาภาพใหม่เป็นตัวเล็ก ใจใหญ่ และเพื่อนเยอะ "ตอนนี้อุปสรรคในการศึกษาเยอะ โรงเรียนเล็ก 2 หมื่นโรงทั่วประเทศ กับอีก 4-5 พันแห่งที่เป็นโรงเรียนดัง ที่สามารถสร้างความเป็นเลิศได้ ต้องดึงให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมให้ได้ เพื่อนต้องเยอะมาก ต้องดึงท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สื่อและเอกชนก็ต้องเข้าใจการเรียนรู้ รัฐบาลต้องเชียร์แรงๆ แล้วเราจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้" ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ส่วน ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า ระบบมีส่วนสำคัญต่อคุณภาพ ซึ่งทุกส่วนต้องร่วมมือกันมากพอสมควร หนึ่งในประเด็นหลัก คือ การเปิดโอกาสให้มีบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กคิดเป็น นั่นเอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพแนะให้การปฏิรูปการศึกษาต้องมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ และคุณภาพ ต้องเกิดในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ส่วนกระแสที่ภาครัฐพยายามดึง Creative Economy หรือเอาทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และดึงคนรุ่นใหม่รู้จักเรื่องการคิดนั้น หลักสูตรประถม มัธยม ควรเปิดให้เด็กเรียนรู้ และคิดวิเคราะห์มากขึ้น อาจจะเป็นการวิจัยระดับง่าย และนำองค์ความรู้พื้นฐานมาใช้ในการวิจัย ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นภารกิจหนึ่งของระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ได้บัณฑิตที่ใฝ่รู้ และมีคุณภาพ ในจังหวะที่การปฏิรูปการศึกษากำลังขับเคลื่อน ในฟากสถาบันการศึกษาเอกชนนั้น ดร.มัทนา แนะว่า ระดับอุดมศึกษา อาจารย์และครูมีส่วนสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจัง ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชน ผู้สอนก็มีส่วนสำคัญในการสร้างบริบทใหม่ ในการสร้างครูที่ดี และมีความสามารถในการนำเด็กๆ ไปสู่การเรียนรู้ที่ทั้งใฝ่ดี และทำเป็น ให้ได้ ...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การศึกษาไทยต้อง "ปฏิรูป" เพื่อหนีจาก "ความล้มเหลว" ในปัจจุบัน

‘ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำ’

ธงชัย สันติวงษ์ นักวิชาการ คอลัมนิสต์ สะท้อนปัญหา “คุณภาพการศึกษาไทย” โจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่สั่งสมมาตลอด 20 ปี ว่า วาระสำคัญที่สุดของประเทศในยุคหน้า คือ ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำที่ทับถมด้วยปัจจัยหลายด้านที่แก้ยาก ต่อให้ปฏิรูปอีกกี่ครั้งในแบบที่ทำอยู่ก็แก้ไม่ได้ เพราะถึงวันนี้เราช้าไปกว่ายี่สิบปีแล้ว ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำเกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่อุดมศึกษาลงมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
1.ปัญหาจากด้านการเมือง การศึกษาของไทยในสมัยมีการเลือกตั้งได้ตกอยู่กับรัฐบาลพลเรือนที่มักส่งรัฐมนตรีเกรดซี มาบริหารกระทรวงการศึกษาฯ หรือพรรคการเมืองเจ้าประจำบางพรรคที่สนใจคุมกระทรวงศึกษาฯ เพราะงบประมาณเยอะ และเป็นอาชีพฐานเสียงเลือกตั้งสำคัญ ทำให้งบประมาณด้านการศึกษาถูกครอบงำโดยคนสายพรรคการเมืองบางพรรค สิ่งที่ปรากฏ คือ ส่วนมากเป็นการสร้างอาคารมากกว่าการพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ และส่งเสริมการบริหารวิชาการกับสร้างความรู้ กล่าวตรงๆ ก็คือ งานการศึกษา คือ งานที่หาประโยชน์ได้ง่ายมากและคล่องตัวดี
2.ปัญหาระบบราชการ การรวมศูนย์อำนาจการบริหารยังคงยึดไว้ที่ส่วนกลางแทบจะทั้งหมด อันเป็นต้นเหตุทำให้โครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ มีขนาดใหญ่ เทอะทะ และเต็มไปด้วยคนมากมาย (ที่ทำงานแค่กำกับดูแลที่จำเป็น เช่น หนังสือเรียนมากเกินไป จนเป็นบ่อเกิดของผลประโยชน์ก้อนโต เป็นต้น)
3.อุบัติเหตุ ทิศทางแฉลบ ในขณะเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ความจริงการพัฒนาด้านการศึกษาของไทยหลังยุคทหาร มีนักวิชาการคุณภาพจำนวนมากมองเห็นปัญหาและมีแผนงานที่จะเปลี่ยนการศึกษาของไทยให้ดีขึ้นมากมาย ที่สำเร็จแล้ว คือ การสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ที่เป็นปัญหา และยังแก้ไขไม่สำเร็จ คือ ระบบการศึกษา จากที่ครั้งหนึ่งเคยมีการวาดภาพการพัฒนากำลังคนไปสู่เส้นทางสายอาชีวศึกษา ทั้งเกษตรกรรม ช่างอาชีวะ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมกับกีฬา เพื่อศักดิ์ศรีของอาชีพและรายได้ที่ดี ธงชัย ชี้ถึงแนวทางแก้ไขว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงคือ ระบบอุดมศึกษาที่ควรมีคุณภาพด้วยระบบการศึกษาที่เต็มรูปแบบ เพื่อชีวิตและสังคม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น กรณีของแผนการศึกษาตลอดชีพแบบทางไกลที่ต้องเตรียมการไว้เพื่อสร้างโอกาสแก่คนทำงานให้ได้เรียนต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แต่ผลสุดท้ายก็คือ อุดมศึกษาทุกสถาบันมีการจัดให้เรียนวิชาพื้นฐานเฉพาะในปีแรกเท่านั้น
4.การขาดการควบคุม ทุกจุดทุกระดับต่างก็มีผลประโยชน์จากระบบที่ไร้การควบคุม แม้แต่การสอบและประเมินผลภายใน

“คุณภาพการศึกษา” ทั้งระบบ ยังคงเป็นปัญหาสั่งสมมานาน เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย และรอวันที่จะได้รับการเยียวยา

ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: