วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เพิ่มประสิทธิภาพ ร.ร.เล็ก 1.4 หมื่นแห่ง

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการบริหารงานความเสี่ยงเพื่อวิเคราะห์การดำเนินการภารกิจเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพสถานศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือโรงเรียนขนาดเล็ก ที่จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อดูแลโรงเรียนเหล่านี้ให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูป ธรรม ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ขณะนี้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงของประชากรวัยเรียน และการคมนาคมที่จะดวก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนในตัวอำเภอและตัวเมือง

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ.จำนวน 14,056 แห่ง คิดเป็น 44.78% ของจำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั้งหมด 30,000 กว่าแห่ง โดยหากดูสถิติย้อนหลังในปี 2547 มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 11,599 แห่ง คิดเป็น 35.88% และปี 2536 มีจำนวน 10,741 แห่ง คิดเป็น 33.48% ทั้งนี้ จากตัวเลขที่สำรวจของ สพฐ.ยังพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร อย่างอัตราครูต่อนักเรียนต่ำ เมื่อเทียบกับโรงเรียนทั่วไป โดยโรงเรียนขนาดเล็กมีอัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 12.46 ส่วนโรงเรียนทั่วไปมีอัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 20 ในขณะที่ผลการศึกษาวิจัยของต่างประเทศ ระบุว่า ขนาดของจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมกับโรงเรียนนั้น ในโรงเรียนประถมศึกษาจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม 300-400 คน ระดับมัธมศึกษา 400-800 คน

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า ขนาดของโรงเรียนจะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 495 คน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ส่วนโรงเรียนที่จำนวนนักเรียนประมาณ 495-2,000 คน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเช่นเดียวกับงานวิจัยดังกล่าว โดยโรงเรียนขนาดเล็กจะมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนขนาดเล็กที่สุดจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง 301-1,000 คนจะมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ สพฐ.จะต้องนำมาปรับปรุงแนวทางการบริหาร โดยจะต้องทำแผนที่การศึกษา(School Mapping) ของเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ เพื่อจะดูว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ใดบ้างที่จะสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันในลักษณะการเรียนรวม โดยดึงโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเรียนรวมในชั้นเดียวกัน ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะต้องยืดหยุ่นมากโดยจัดสรรเป็นเงินก้อน เพื่อให้โรงเรียนบริหารจัดการเอง การเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายพาหนะในการเดินทางให้กับนักเรียนที่จะต้องมาเรียนรวมกับอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งจะให้องค์กรปกครองส่วนตำบลเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“การนำมาตรการการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมาใช้นั้น คงไม่ใช่แนวทางที่ สพฐ.จะดำเนินการเพราะการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะเกิดผลกระทบกับผู้ปกครอง และนักเรียน แต่การนำนโยบายการกระจายโรงเรียนดีมีคุณภาพ เช่น โรงเรียนดีประจำตำบล ไปยังพื้นที่ต่างๆ จะเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะจะทำให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนเหล่านี้ และท้ายที่สุดโรงเรียนที่ไม่มีเข้าเรียนก็จะต้องถูกยุบไปโดยปริยาย และนี่น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: