วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สมศ.คลอดเกณฑ์ประเมินรอบ3

นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวในการประชุมอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขตกรุงเทพฯมีตัวแทนครูจากภาคเอกชนและรัฐเข้าร่วม 800 คน ว่า ตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบ 3 จะนำการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ให้อยู่ระบบโครงสร้างประเมินเดียวกันโดยจะแบ่งตัวบ่งชี้ออกเป็น 3 ชุด ได้แก่

ชุดแรก ตัวบ่งชี้ขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ทุกสถานศึกษาต้องมี และต้องปฏิบัติให้ได้ซึ่งมาจากการคัดกรองตัวบ่งชี้ที่สำคัญจากการประเมินรอบแรก และรอบ 2

ชุดที่ 2 จะเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่สะท้อนปรัชญา พันธกิจ และเป้าหมาย ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ได้จากสถานศึกษาสำรวจตัวเองแล้วเสนอให้สมศ.เข้าไปประเมิน เป็นการสะท้อนออกมาจากตัวผู้เรียนบัณฑิต ว่าบรรลุสิ่งที่สถานศึกษาตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

ชุดที่ 3 ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม จะปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกเวลา

"การประเมินรอบ 3 ได้ยุบรวมตัวบ่งชี้ในครั้งที่ผ่านมาจาก 14 มาตรฐาน 60 ตัวบ่งชี้ เหลือ 4 มาตรฐาน ตามกฎกระทรวง ได้แก่
1.มาตรฐานว่าด้วยผลการศึกษา
2.มาตรฐานการบริหารจัดการ
3.มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.มาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน


อย่างไรก็ตาม การประเมินในรอบที่3 จะมีมิติใหม่ขึ้นมาอีก คือแนวทางการประกันคุณภาพ โดยให้สถานศึกษาประเมินตัวเองปีละ 1 ครั้ง และให้ต้นสังกัดเข้าไปดูแลทุกๆ 3 ปี สมศ.จะเข้าไปดูทุก 5 ปี หากไม่ผ่านสถานศึกษาต้องทำแผนพัฒนาส่ง สมศ.ภายใน 30 วัน และต้องพัฒนาขับเคลื่อนให้ได้ภายใน 2 ปี เหมือนการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนแนวคิดที่ 2 เรียกว่าการประเมินแบบโดดเด่นหรือโครงการ 1 ช่วย 9 คือสถานศึกษาที่ผ่านประเมินครั้งที่ผ่านมาในระดับดีมาก จะช่วยพัฒนาสถานศึกษาอีก 9 แห่งที่ผลการประเมินอยู่ในขั้นต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น โครงการนี้จะทำให้ภาพรวมการศึกษาค่อยๆ พัฒนาขึ้น เรียกว่าห่วงโซ่คุณภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป" นายชาญณรงค์กล่าว

ที่มา นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: